กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท. จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต. ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต. อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ. ธรากร เลิศพรเจริญ, พ.ต.อ. สำเริง อำพรรทอง, พ.ต.อ. ณัฐวัฒน์ เกศะรักษ์, พ.ต.อ. สมเกียรติ ตันติกนกพร รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ. เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดย นพ. ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ. ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภญ. สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ร่วมกันแถลงผลงานจับกุมคลินิกเถื่อน ลักลอบให้บริการห้องแล็บตรวจคัดกรองโควิด 19 แก่ประชาชนโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยผู้ให้บริการก็ไม่ใช่บุคลากรทางสาธารณสุข
สืบเนื่องจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ได้รับการประสานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ปทุมธานีว่า พบเบาะแสการเปิดคลินิกเถื่อน ซึ่งให้บริการในลักษณะห้องปฏิบัติการตรวจสารคัดหลั่งของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 (COVID 19) ด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) และออกใบรับรองผลในนามคลินิกให้แก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งอาจจะมีการดำเนินการที่ไม่ได้มาตรฐานสุ่มเสี่ยงให้เกิดการระบาดของโรคโควิด 19 จึงได้ประสานมายังกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก.4 บก.ปคบ.) เพื่อสืบสวนหาข้อมูลเพิ่มเติม
ในวันที่ 13 ธันวาคม 2564 เจ้าหน้าที่จึงได้สนธิกำลังลงพื้นที่ดำเนินการตรวจสอบ ณ คลินิกเทคนิคการแพทย์ ดี แล็บ อินเตอร์กรุ๊ป ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านกระแซง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี โดยจากการตรวจสอบพบว่า คลินิกดังกล่าวให้บริการตรวจคัดกรองโรคโควิด 19 แก่ประชาชนด้วยชุดตรวจ ATK รายละ 500 บาท และออกใบรับรองผลในนามคลินิก โดยที่ไม่ได้ขออนุญาตประกอบกิจการกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี แต่มีการนำใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลจากสถานพยาบาลอื่นมาแสดงแก่ผู้มารับบริการเพื่อความน่าเชื่อถือ อีกทั้งเจ้าหน้าที่รวมถึงผู้ให้บริการและผู้ช่วยซึ่งอยู่ประจำคลินิกมิใช่แพทย์ หรือนักเทคนิคการแพทย์แต่อย่างใด และจากการตรวจสอบสถานที่แห่งนี้พบว่ามีการจัดเก็บตัวอย่างเลือดและตัวอย่างปัสสาวะหลายพันชิ้น ที่ได้จากการออกไปรับตรวจตามโรงงานหรือบริษัทต่างๆ มาเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นโดยไม่ถูกสุขลักษณะ ประกอบกับการตรวจสอบเครื่องมือที่ใช้ในคลินิก ทำให้เห็นได้ว่าสถานที่แห่งนี้ไม่กระทำการตามมาตรฐานวิชาชีพเทคนิคการแพทย์และมาตรฐานของสถานพยาบาล และประการสำคัญได้ตรวจพบว่าไม่มีการเก็บขยะติดเชื้อที่เป็นไปตามมาตรฐาน เจ้าหน้าที่จึงได้จับกุมตัวผู้ต้องหาจำนวน 2 ราย คือ 1) น.ส.วาสิตา (สงวนนามสกุล) ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ดูแลสถานที่ ในความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐานประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาต (คลินิกเถื่อน) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 2) น.ส.พรนภา (สงวนนามสกุล) เป็นผู้ให้บริการตรวจขณะเข้าทำการตรวจสอบ ในความผิดตามพระราชบัญญัติเทคนิคการแพทย์ พ.ศ.2547 ฐานประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมยึดของกลางที่ใช้ประกอบการกระทำความผิด ส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การตรวจสารคัดหลั่งของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะต้องกระทำในคลินิก หรือห้องปฏิบัติการที่มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มิฉะนั้น ก็อาจจะเป็นการเสียเวลาและเงินทองโดยเปล่าประโยชน์ ด้วยการที่ผู้ให้บริการขาดความชำนาญหรืออุปกรณ์การตรวจคัดกรองที่ไม่ได้มาตรฐานผลตรวจที่ได้ก็อาจจะขาดความเที่ยงตรง อีกทั้งวิธีการที่ไม่ถูกต้องก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อหรือการระบาดจากสถานที่เก็บตัวอย่าง จึงขอให้ประชาชนตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลทุกครั้งก่อนรับบริการ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อคลินิกที่ขึ้นทะเบียนได้ที่เว็บไซต์กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (http://mrd-hss.moph.go.th/) และในส่วนของห้องปฏิบัติการหรือห้องแล็บที่ตรวจคัดกรองด้วยวิธี RT-PCR สามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่เว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (https://www.dmsc.moph.go.th/) ซึ่งจะมีการแสดงที่ตั้งของสถานพยาบาล หรือห้องปฏิบัติการเหล่านั้นอย่างชัดเจน หากตรวจสอบรายชื่อไม่พบ หรือสถานที่ตั้งไม่ตรงกับที่แสดงในเว็บไซต์ ขอให้ตั้งข้อสงสัยไว้เบื้องต้นว่าเป็นคลินิกเถื่อน หรือห้องแล็บเถื่อนให้หลีกเลี่ยงรับบริการ และแจ้งเบาะแสมาที่สายด่วน 1426 กรม สบส.ในวันและเวลาราชการ แต่หากอยู่ในส่วนภูมิภาคก็สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า จึงขอฝากความห่วงใยถึงพี่น้องประชาชน ควรศึกษาข้อมูลของสถานพยาบาลและแพทย์ประจำสถานพยาบาลดังกล่าวก่อนที่จะเข้ารับบริการ เพื่อความปลอดภัยและได้รับผลการตรวจวิเคราะห์ที่ถูกต้อง แม่นยำแก่ตัวท่านเอง และแจ้งเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาลเถื่อนหรือผู้ที่มิใช่แพทย์หรือนักเทคนิคการแพทย์ แต่ทำการรักษาหรือตรวจวิเคราะห์ให้กับประชาชนทั่วไปโดยไม่ได้รับอนุญาตให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด พี่น้องประชาชนสามารถแจ้งข้อมูลการกระทำความผิดได้ที่ สายด่วน บก.ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค
ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการแทน
รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวในตอนท้ายว่า เทคนิคการตรวจด้วยชุดทดสอบตรวจหาแอนติเจนเบื้องต้น (Antigen test kit : ATK) ได้ถูกนำมาใช้ในการตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกเพื่อคัดกรองการติดเชื้อโควิด 19 ในเบื้องต้น ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (home use) และแบบใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์ (professional use) เท่านั้น ซึ่งทั้ง 2 แบบ ต่างกันที่อุปกรณ์และตำแหน่งการเก็บตัวอย่าง กรณีชุดตรวจด้วยตนเองจะเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูกด้านหน้า (nasal swab) หรือน้ำลาย (saliva) ส่วนชุดตรวจสำหรับบุคลากรทางการแพทย์จะเก็บตัวอย่างจากเยื่อบุด้านหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal swab) ไม้เก็บตัวอย่างจะมีขนาดยาวกว่า ต้องใช้เทคนิคในการเก็บตัวอย่างเพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำและไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ สำหรับการจับกุมในครั้งนี้ แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะพบว่า ชุดทดสอบที่ใช้ตรวจหาแอนติเจนเป็นแบบตรวจด้วยตนเอง (home use) ซึ่งได้รับอนุญาตจาก อย. อย่างถูกต้อง แต่เป็นการกระทำของผู้ที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์และไม่มีความรู้ความชำนาญในการเก็บตัวอย่างที่ถูกต้อง อีกทั้งสถานที่ดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง เมื่อท่านไปใช้บริการจากคลินิกดังกล่าวเพื่อหวังว่าจะได้รับผลการตรวจที่แม่นยำ สามารถออกใบรับรองเพื่อใช้ประกอบการทำธุรกรรมต่าง ๆ ก็จะเป็นการเสียเวลา เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ ดังนั้น ขอย้ำให้ประชาชนตรวจสอบว่า สถานพยาบาลที่ท่านเข้ารับการตรวจได้รับอนุญาตให้ตรวจหาเชื้อโควิด 19 อย่างถูกกฎหมาย และตรวจสอบว่าชุดทดสอบที่นำมาใช้ตรวจให้ท่านได้รับอนุญาตจาก อย. แล้ว โดยตรวจสอบที่เว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th และหากพบผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าจะผิดกฎหมาย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรืออีเมล์ 1556@fda.moph.go.th