“ฟางข้าว” นับเป็นเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีอยู่ทั่วไปเป็นจำนวนมาก ภายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวของพี่น้องชาวนา ซึ่งมีอยู่ในพื้นที่นาของเกษตรกรโดยส่วนใหญ่แล้วจะนิยมเผาฟางข้าวเพื่อทำการเพาะปลูกข้าวหรือพืชฤดูแล้งในพื้นที่การทำนาเดิม ซึ่งทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก แต่ก็มีเกษตรกรบางรายที่ปรับเปลี่ยนแนวคิดนำฟางข้าวที่เปล่าประโยชน์มาอัดก้อนไว้สำหรับการเลี้ยงสัตว์ ลดต้นทุนด้านอาหาร และช่วยสร้างรายได้จากการจำหน่ายฟางอัดก้อนให้กับกลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงโค - กระบือ ในพื้นที่เป็นอย่างมาก
นายสอนชัย เพชรฤทธิ์ อีกหนึ่งเกษตรกรที่มีแนวความคิดใหม่ หมู่ที่ 5 ตำบลนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ที่เริ่มมองเห็นโอกาสจากการเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้จากฟางข้าว ด้วยการต่อยอดอัดก้อนฟางข้าวไว้เป็นอาหารสัตว์และมีการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเพื่อสร้างรายได้เสริม รวมถึงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ในการทำการเกษตรแบบผสมผสาน
นายสอนชัยฯ เปิดเผยว่า ตนเองเป็นเกษตรและทำอาชีพการเกษตรมามากกว่า 10 ปีแล้ว และมองเห็นว่าชาวนาทั่วไปเมื่อทำการเก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จ ก็ทำการเผาฟางข้าวทิ้งเพื่อในบางพื้นที่ต้องการที่จะทำนาปรังหรือปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพด แตงโม ฟักทอง เป็นต้น ทำให้เกิดมลพิษและไม่ก่อให้เกิดรายได้ใดๆ ตนเองซึ่งเลี้ยงควายสวยงามอยู่แล้ว จึงมองว่าน่าจะเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้จากฟางข้าวได้ ด้วยการนำมาอัดก้อนจำหน่าย หรือนำมาเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ ช่วยลดต้นทุนการผลผลิตได้เป็นอย่างดี
สิ่งสำคัญในการอัดฟางก้อน จะต้องเก็บเกี่ยวข้าวด้วยมือ เพราะฟางข้าวที่ได้จะไม่มีเศษดินหินต่างๆ ปนมา ทำให้เวลานำไปให้ควายกินจะมีสุขภาพที่ดี สำหรับฟางข้าวที่อัดก้อนแล้วจะมีราคา ประมาณ 35 - 45 บาท/ก้อน และจะมีราคาสูงมากในช่วงฤดูฝน ประมาณ 40 - 50 บาท/ก้อน ซึ่งปีนี้มียอดสั่งจองจากกลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงโค - กระบือ มากกว่า 5,000 ก้อน แต่ก็มีไม่เพียงพอกับความต้องการ เพราะตนเองก็เลี้ยงควายสวยงาม ทำให้ต้องเตรียมสำรองไว้เป็นอาหารในช่วงฤดูแล้งนี้ด้วยเช่นกัน
นายสอนชัยฯ เล่าต่อว่า อยากให้พี่น้องเกษตรกรที่เผาฟางข้าว หรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรต่างๆ ในพื้นที่การเกษตร ได้มองเห็นประโยชน์และโอกาสที่จะสร้างรายได้และเพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหล่านี้ โดยเฉพาะฟางข้าวอยากให้เก็บนำมาอัดเป็นก้อนเลี้ยงสัตว์ หรือหากมีเยอะก็นำมาอัดก้อนจำหน่าย ซึ่งมีความต้องการเป็นอย่างมาก ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ตนยังได้นำฟางอัดก้อนมาเลี้ยงควายสวยงาม ซึ่งได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ควายเอง และเริ่มเข้าสู่เวทีการประกวดความสวยงามเกือบทั่วประเทศ และยังเคยได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดควายสวยงามระดับจังหวัด ของจังหวัดนครพนมมาแล้ว ในขณะนี้ก็มีคนเข้ามาติดต่อขอซื้อลูกควาย และขอคำแนะนำในการเลี้ยงความสวยงามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละตัวที่ฟาร์มก็จะมีลักษณะที่โดดเด่นตามสายพันธุ์ เป็นที่ต้องการของตลาดควายสวยงาม ซึ่งแต่ละตัวต้องบอกว่าราคาหลักแสนขึ้นไป ทำให้ตนเองและครอบครัวมีรายได้เพิ่มจากการทำนาในแต่ละปีได้เป็นอย่างดี
นายวิชา คำมุงคุณ เกษตรอำเภอนาหว้า เปิดเผยว่า ในพื้นที่อำเภอนาหว้า สำนักงานเกษตรอำเภอนาหว้า ได้มีการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตร ในการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรและเห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ด้วยการเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้จากฟางข้าว เช่น การทำปุ๋ยหมัก ฟางอัดก้อน การเพาะเห็ดฟาง เป็นต้น สำหรับพื้นที่อำเภอนาหว้าโดยส่วนใหญ่นอกจากจะมีการทำนาข้าว ยังมีการเลี้ยงปศุสัตว์เป็นจำนวนมาก ได้แก่ โค - กระบือ ซึ่งสิ่งจำเป็นและสำคัญคือแหล่งอาหารที่จะต้องเพียงพอกับความต้องการของสัตว์เลี้ยง การที่เกษตรกรหันมาใช้ประโยชน์จากฟางข้าวด้วยการอัดฟางก้อนไว้เป็นอาหารสัตว์ จะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนด้านอาหารมากกว่า 30% ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตที่ลดลง มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่ได้เพิ่มขึ้น