พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เดินทางตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดยะลาและจังหวัดปัตตานี พร้อมกับประชุมร่วมกับผู้บริหารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต) ในประเด็นการแก้ปัญหาความยากจนเนื่องมาจากการที่ปัตตานีเป็นจังหวัดที่ประชากรมีรายได้น้อยที่สุดในประเทศไทยตามดัชนีความก้าวหน้าของคน
โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้รับฟังรายงานความคืบหน้าของแผนงานการแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นความร่วมมือกันตามบันทึกความเข้าใจที่ลงนามร่วมกันระหว่าง ศอ.บต.กับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหนึ่งในโครงการความร่วมมือนั้นคือโครงการ “เมืองปูทะเลโลก” ซึ่งมีการคิดค้นการเพาะพันธุ์ลูกปูทะเลสำเร็จเป็นครั้งแรกจนเกิดเป็นอาชีพใหม่ให้แก่ประชาชน
นายกรัฐมนตรีและคณะยังได้ตรวจเยี่ยมโครงการเมืองปูทะเลโลก ของจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นโครงการที่พัฒนาขึ้นภายใต้กรอบแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่ประสานการขับเคลื่อนร่วมกันระหว่าง ศอ.บต. กับ บพท.
นายกิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา บพท.ร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ตรวจค้น ตรวจทานจนสามารถนำประชาชนที่ยากจนเข้าสู่กระบวนการความช่วยเหลือของรัฐได้แล้ว 98,000 คน และนอกจากนี้ยังสนับสนุนการพัฒนาโครงการเมืองปูทะเลโลกของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่แก่ประชาชน
โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือและบูรณาการระหว่าง บพท. ศอ.บต. ตลอดจนภาคีอื่น ๆ ได้แก่ มหาวิทยาสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรในพื้นที่ โดยมีทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้เรื่องปูทะเลด้วยภูมิปัญญาคนไทยอย่างครบวงจร
“ทุนวิจัย บพท.ช่วยให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ที่เมื่อนำเอาไปเชื่อมโยงกับกลไกสภาเกษตรกร เกษตรกร ฟาร์มเพาะเลี้ยง ภาคธุรกิจเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ ทำให้เกิดเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ของประชาชน และจะต่อยอดฐานทรัพยากรให้เกิดเป็นเป็นเมืองปูทะเลโลกที่ปัตตานีได้อย่างยั่งยืน”
นายซุกรี หะยีสาแม หัวหน้าโครงการวิจัยเมืองปูทะเลโลก และอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการการวิจัยเพื่อพัฒนาการเพาะเลี้ยงปูทะเลให้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่แบบครบวงจร โดยการมีส่วนร่วมของกลไกความร่วมมือเพื่อพัฒนาพื้นที่จังหวัดปัตตานี ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก บพท.
“ปูทะเลมีความต้องการสูงและสม่ำเสมอ แต่ที่ผ่านมาใช้ลูกปูจากธรรมชาติมาเพาะเลี้ยงทำให้ไม่มีผลผลิตมากและสม่ำเสมอพอ ดังนั้นเมื่อวิจัยจนเกิดการเพาะพันธุ์ได้สำเร็จแล้วจึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ทั้งยังกระตุ้นให้เกิดตื่นตัวในการลงทุน จนตอนนี้เกิดห่วงโซ่ที่ครบวงจรแล้วในปัตตานี
หัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวด้วยว่าโครงการเมืองปูทะเลโลก ได้รับความเชื่อมั่นทั้งจากเกษตรกร และผู้ประกอบการภาคเอกชนมากขึ้น โดยสังเกตเห็นได้ชัดเจนจากจำนวนเกษตรกร หรือกลุ่มเกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีนักธุรกิจเอกชนหันมาลงทุนทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับปูทะเลมากขึ้น จึงน่าเชื่อได้ว่าโครงการเมืองปูทะเลโลก น่าจะเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจระดับฐานรากที่จะมีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ที่มั่นคงยั่งยืนแก่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้ปัญหาความยากจนได้รับการแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จ
พัฒนาการของโครงการเมืองปูทะเลโลก จังหวัดปัตตานี เริ่มต้นจากการเพาะฟักลูกปู แล้วนำลูกปูไปส่งเสริมให้เกษตรกรทำฟาร์มเลี้ยงปูทะเลแบบบ่อดิน โดยแรกเริ่มมีเกษตรกรสนใจทำฟาร์มปูทะเลเพียง 3 ฟาร์ม แต่ปัจจุบันขยายจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 25 ฟาร์ม และมีเกษตรกรพัฒนาเป็นฟาร์มปูขุนระบบคอนโดน้ำหมุนเวียน และแบบแพลอยน้ำอีก 22 ราย อีกทั้งยังมีการทำฟาร์มอนุบาลลูกปูวัยอ่อนเกิดขึ้น 2 แห่ง
รายงานการศึกษาวิจัยเบื้องต้นพบว่า การเลี้ยงปูบนที่ดินตัวเองของเกษตรกร ขนาดบ่อ 2 ไร่ต้องใช้ต้นทุนรวม 23,100 บาทต่อรอบ 109 วัน ซึ่งจะสามารถทำรายได้จากการขายเป็นปูขุนได้ 89,000 บาทต่อรอบ ส่งผลให้มีกำไรจากการเลี้ยงรอบละ 65,900 บาทหรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยจากการเลี้ยงที่ร้อยละ 285.28 ต่อรอบ
ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเลี้ยงปู อยู่ที่คุณภาพน้ำ ซึ่งต้องควบคุมให้มีค่าความเป็นกรด-ด่าง ระหว่าง พีเอช 6-8 และต้องรักษาค่าความเค็มให้ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 30 พีพีเอ็ม