ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
เอนก แนะพลิกฟื้นของดีชุมชน ต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรมไทย
17 ธ.ค. 2564

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดประชุมคณะกรรมการอํานวยการ สอวช. ครั้งที่ 9/2564 ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และผ่านระบบออนไลน์ โดยมี ศ. (พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานการประชุม โดย สอวช. ได้นำเสนอวาระสำคัญเรื่องการบริหารโอกาสของประเทศจากทุนทางอารยธรรม มองโอกาสต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรมของไทย ผ่านการปั้นระเบียงนวัตกรรมวัฒนธรรม หรือ Cultural Innovation Corridor

ศ. (พิเศษ) ดร. เอนก ให้ความเห็นในประเด็นการบริหารโอกาสของประเทศจากทุนทางอารยธรรม ว่า เราต้องตีโจทย์ให้แตกว่าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ที่สร้างให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีในการจัดอับดับต่างๆ ของประเทศไทยในระดับโลกนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องนำเอาหลักวิทยาศาสตร์ หลักความเป็นเหตุเป็นผล มาวิเคราะห์ในด้านศิลปะ หรือสุนทรียศาสตร์ ต้องจู่โจมลงไปหาคำตอบว่าทำไมเราถึงทำได้ ซึ่งตนมองว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากพื้นฐานรากเหง้าเดิมของไทยที่ดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะในด้านสังคมที่ดี การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข การพึ่งพิง ให้เกียรติกัน และมีความหลากหลาย

“สังคมไทยเป็นสังคมที่พิเศษ คือ คนตั้งแต่ระดับรากหญ้าก็มีความเป็นศิลปะอยู่ในตัว อยู่ในสายเลือด อยู่ในดีเอ็นเอ เมื่อไปหาที่มาของศิลปะของไทยจะพบว่าอยู่ในชุมชน เกษตรกร ที่ชีวิตครึ่งหนึ่งเป็นเกษตรกรอีกครึ่งหนึ่งเป็นศิลปิน นักร้อง หรือมีความสามารถด้านศิลปะอื่นๆ ในตัว เราจึงต้องเข้าไปส่งเสริมศิลปะในระดับชุมชน จากพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ของชุมชนแต่ละแห่ง เพื่อทำให้สิ่งนั้นมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และเชื่อมโยงสู่ระบบตลาดให้ได้ โดยต้องมาระดมความคิดร่วมกันว่าจะเรารักษารากเหง้าของไทยอย่างไร ทำศิลปะอย่างไรโดยไม่ละทิ้งรากฐานความเป็นไทย ในส่วนของภาคการศึกษา เราต้องอาศัยมหาวิทยาลัยที่มีคณะวิชาที่เกี่ยวข้อง ปรับหลักสูตร การทำงานศิลปะโดยไม่ทิ้งรากเหง้าความเป็นไทย ซึ่งมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่สอนทางด้านศิลปะจะต้องปรับตัวอย่างมาก โดยเฉพาะการเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน และประเด็นสำคัญที่จะทำให้เราทำงานได้ดีขึ้น คือเราต้องรู้ที่มาของความสร้างสรรค์ที่เรามีอยู่ คนไทยเราเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษ และมีจุดแข็งเพื่อนำมาใช้ในการแข่งขันได้อีกมาก” ศ. (พิเศษ) ดร. เอนก กล่าว

นอกจากนี้ ศ. (พิเศษ) ดร. เอนก ยังได้เน้นย้ำถึงการนำเอาวิทยาศาสตร์และหลักความเป็นเหตุเป็นผลมาทำให้สิ่งที่เรามีอยู่พัฒนาไปได้ เข้าไปลงทุน ทุ่มแรง ใส่สติปัญญาลงไป ให้สามารถต่อยอดไปได้อีก คือมองในอีกขั้วที่เป็นการรู้เท่าทัน

กระแสโลก ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เมื่อเรามีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ในอดีต มีปัจจุบันที่ดี เราก็จะต้องมองถึงอนาคตที่ดียิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งหากจะพัฒนาไปสู่อนาคตที่ดีได้ต้องคิดแบบผสมผสานทั้งกระแสของโลกและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ที่เป็นอนาคตสำคัญของประเทศ

ด้าน ดร. กิติพงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ให้ความเห็นว่า ในต่างจังหวัดของไทยสมัยก่อนจะมีกระบวนการสืบสานทางอารยธรรม วัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นผ่านการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นในลักษณะการถ่ายทอดผ่านความผูกพันของเครือญาติหรือลูกหลาน หากจะคิดต่อยอดในการส่งต่อรากฐานทางอารยธรรมที่ดีจึงต้องคิดถึงประเด็นนี้ด้วย แต่เมื่อมองภาพในความเป็นเมือง กลับไม่ค่อยมีลักษณะนั้น ถ้าต้องการให้รากเหง้าเดิมของเรายังคงอยู่และสืบทอดต่อไปได้ จึงต้องเข้าใจคนรุ่นใหม่ วิถีชีวิตรูปแบบใหม่ ต้องมีกระบวนการทำ Translational Research จากทุนที่เรามี ซึ่งกลไกที่จะทำให้ขยายหรือพัฒนาขึ้นไปได้ จะต้องอาศัยผู้ประกอบการ ที่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจทางด้านไลฟ์สไตล์ อย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ ร้านกาแฟ ที่มีคนทำกันเยอะมาก เราต้องคิดว่าจะทำอะไรให้ได้มากกว่าร้านกาแฟ ต้องมีนวัตกรรมใส่ลงไป และอาศัยผู้ประกอบการออกไปทำ เมื่อมีผู้ประกอบการเหล่านี้มีจำนวนมากขึ้น คุณภาพชีวิตโดยรวมก็จะดีขึ้นตามไปด้วย

สำหรับประเด็นการบริหารโอกาสของประเทศจากทุนทางอารยธรรมดังกล่าว ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า การจัดอันดับต่างๆ ในระดับโลก ถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบที่สามารถนํามาต่อยอดเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ได้ เช่น ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับประเทศที่มีอิทธิพลด้านมรดกทางวัฒนธรรมเป็นอันดับที่ 5 ของโลก (World’s Best Countries for Cultural Heritage Influence, 2021) มีเมือง Top 10 ที่ดีที่สุดในโลกในการทำงานและพักผ่อน (Best Cities for a Workation, 2021) 2 เมือง ได้แก่ กรุงเทพ (อันดับ 1) และภูเก็ต (อันดับ 10) ไทยยังได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางสุขภาพ (Global Health Security, 2021) อันดับที่ 5 และติด Top 10 ประเทศที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นธุรกิจ (Best countries to start a business) และเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบธุรกรรมการเงินทางมือถือ (Mobile Banking) เป็นอันดับต้นๆ ของโลก เป็นต้น

ด้วยข้อได้เปรียบดังกล่าว อววน. สามารถเข้ามามีบทบาทในการสร้างและบริหารโอกาสของประเทศ โดยต่อยอด มรดกทางวัฒนธรรม สู่การพัฒนาอุตสาหกรรรมอารยธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Civilization & Creative Industry) โดยต้องมีการสร้างเป้าหมายร่วม รวมถึงพัฒนาแนวทางและการใช้ประโยชน์ จากอารยธรรม/วัฒนธรรมที่สำคัญของพื้นที่ จากนั้นจึงเข้าไปสร้างสรรค์และส่งเสริม ทั้งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสื่อสร้างสรรค์ การตลาด พัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงแนวคิดการต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรม ด้วยการปั้นระเบียงนวัตกรรมวัฒนธรรม (Cultural Innovation Corridor)

ด้านความเห็นของที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งมากมาย และเติบโตมาจากความได้เปรียบหลายอย่าง ทั้งที่ตั้งประเทศที่ปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ ไม่ต้องแบกความขมขื่นจากการเป็นอาณานิคมของชาติใด โดยในส่วนของการเสนอให้มี ระเบียงนวัตกรรมวัฒนธรรม ตามภูมิศาสตร์วัฒนธรรม ได้แก่ ล้านนา ศรีสัชนาลัย สุวรรณภูมิ ทวารวดี ศรีวิชัย เป็นประเด็นที่น่าสนใจ และต้องมาดูว่ากลุ่มจังหวัดที่อยู่ในโซนดังกล่าว มีจังหวัดอะไรบ้าง สิ่งที่มีอยู่แล้วครอบคลุมครบถ้วนเพียงใด และจะเชื่อมโยงกันต่อไปได้อย่างไร

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...