บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เดินหน้าขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มความหลากหลายของประเภทพลังงาน ตั้งเป้าใช้นวัตกรรมเป็นเครื่องมือสร้างความแตกต่าง จับมือกับ พันธมิตรเพื่อลดต้นทุนในการทำงาน ค้นหาแนวทางใหม่ของการประยุกต์ใช้พลังงานหมุนเวียนที่จะผสานอย่างลงตัวกับชีวิตประจำวัน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้มากขึ้น เป็นการหาทางเลือกใหม่ๆ ให้กับการใช้พลังงานหมุนเวียน
นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บีซีพีจี เปิดเผยว่า ในปี 2560 นี้ บริษัทได้วางแผนการดำเนินงานโดยมีเป้าหมายหลัก 4 ประการ เริ่มต้นจากการเป็นผู้นำด้านต้นทุนด้วยการลดเวลาก่อสร้าง ลดค่าใช้จ่ายของโครง การ เน้นการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการก่อสร้างในประเทศญี่ปุ่น
ประการที่ 2 คือการตอบสนองนโยบายรัฐบาลด้านพลังงานหมุนเวียน โดยนอกจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งของบริษัทเองและโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากสหกรณ์ (โซลาร์สหกรณ์) ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว บริษัทยังพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของรัฐบาลในอนาคตอันใกล้ ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์สหกรณ์ระยะที่ 2 หรือ โครงการโรงไฟฟ้าไฮบริด 568 เมกะวัตต์
ประการที่ 3 การขยายธุรกิจด้วยการเติบโตในต่างประเทศ โดยในประเทศญี่ปุ่น โครงการโรงไฟฟ้านากิ (Nagi) ที่จังหวัดโอคายาม่า สามารถส่งกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบจำหน่ายไฟฟ้าได้เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา และมีกำหนดการขายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในวันที่ 2 มีนาคม เร็วกว่ากำหนดประมาณ 1 เดือน ในขณะที่โครงการอื่นๆ ก็กำลังดำเนินการไปตามแผน นอกจากนั้น ยังมีแผนขยายการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนประเภทต่างๆ นอกเหนือไปจากพลังงานแสงอาทิตย์ เช่นพลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานชีวมวล ฯลฯ ทั้งในญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ โดยมุ่งเน้นภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นหลัก โดยในขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาขั้นตอนสุดท้ายและคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาการลงทุนในธุรกิจพลังงานลมที่ประเทศฟิลิปปินส์ได้ในเร็วๆ นี้
ในปี 2560 บริษัทประมาณการ EBITDA เพิ่มขึ้นจากปี 2559 อย่างน้อย 20% โดยในประเทศญี่ปุ่นจะเริ่มรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้านากิ กำลังการผลิตติดตั้ง 14.38 เมกะวัตต์ และรับรู้รายได้เต็มปีเป็นปีแรกจากโรงไฟฟ้านิคาโฮ (Nikaho) ในจังหวะอะกิตะ กำลังการผลิตติดตั้ง 13.16 เมกะวัตต์ อีกทั้งรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นจากโครงการโซลาร์สหกรณ์ในประเทศไทย และรวมถึงรายได้จากโครงการใหม่ๆ ที่คาดว่าจะมีการลงทุนในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณในการลงทุนกว่า 16,000 ล้านบาท หากเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ จะสามารถรับรู้รายได้และกำไรได้ทันที
ประการสุดท้าย ซึ่งนับเป็นประการสำคัญ บริษัทจะมุ่งเน้นการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้เกิดความแตกต่างในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ด้วยการเลือกเฟ้นพันธมิตรที่เหมาะสมมาทำงานร่วมกัน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยที่มีชื่อเสียงทั้งด้านงานวิชาการและปฏิบัติควบคู่ไปกับการวิจัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อร่วมกันทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ตั้งแต่การเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนประเภทต่างๆ ไปจนถึงการค้นหาทางเลือกและแนวทางใหม่ของพลังงานหมุนเวียนที่จะผสานอย่างลงตัวกับชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างใกล้ตัวมากขึ้น เข้าถึงง่ายขึ้น นอกจากนี้ บริษัท กำลังวางแผนร่วมมือบริษัท start up จากต่างประเทศ เพื่อการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการทำธุรกิจต่อไป
“ผมมองเห็นบีซีพีจีในรูปแบบที่แตกต่างออกไปในอนาคตอันใกล้ เพื่อสร้างความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง โดยนอกเหนือจากการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทต่างๆ แล้ว ยังทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการธุรกิจพลังงานหมุนเวียนที่จะมีความใกล้ชิดผู้บริโภคยิ่งขึ้น ซึ่งผมมั่นใจว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้ เพราะ IoT (Internet of Things หรือ “อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง”) ที่กำลังเชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเราสู่โลกอินเตอร์เน็ตจะทำให้พลังงานหมุนเวียนเข้ามาสู่ชีวิตประจำวันของผู้คนผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น ส่วนจะออกมาในรูปแบบใดนั้น ต้องรอดูกันต่อไป” นายบัณฑิตกล่าวทิ้งท้าย