ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
ก.เกษตรฯ จับมือ คปภ. ร่วมพัฒนาประกันภัยการเกษตร
23 ธ.ค. 2564

ก.เกษตรฯ จับมือ คปภ. ร่วมพัฒนาประกันภัยการเกษตร ครอบคลุมถึงพืชผลทางการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง ป่าไม้ และบริการทางการเกษตร ลดความเสี่ยงผลผลิต และอัพเกรดคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการและการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการประกันภัยการเกษตรระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยมีนายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และ ดร.สุทธิพลง ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เป็นผู้ลงนาม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเผยแพร่ผ่านระบบออนไลน์ ZOOM Meeting ว่า จากการที่เกษตรกรต้องประสบปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรและส่งผลกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยที่ผ่านมา ภาครัฐต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการชดเชยและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ดังนั้น เพื่อเป็นการลดภาระทางด้านงบประมาณและสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพของเกษตรกร ภาครัฐจึงได้เร่งพัฒนาระบบประกันภัยการเกษตรให้เป็นกลไกในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากผลกระทบของภัยพิบัติทางธรรมชาติและความเสี่ยงในรูปแบบอื่นๆ และได้กำหนดให้การประกันภัยการเกษตรเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืนในระยะยาว จึงเป็นที่มาของการพัฒนาระบบการประกันภัยสินค้าเกษตรที่เหมาะสมและสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในบริหารจัดการความเสี่ยงในการทำการเกษตรได้ในทุกๆ มิติ ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมการพึ่งพาตนเองในที่สุด

สำหรับการร่วมมือกันของทั้ง 2 หน่วยงานในวันนี้ จะเป็นการนำความรู้ ความชำนาญ และความเชี่ยวชาญมาสร้างความร่วมมือทางวิชาการและการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการประกันภัยการเกษตร ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นและโอกาสที่ดีที่จะร่วมกันในการพัฒนาระบบประกันภัยสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมถึงพืชผลทางการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง ป่าไม้ และบริการทางการเกษตร โดยจะมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ ที่จะสามารถตอบโจทย์และสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาใช้การประกันภัยเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการบริหารจัดการความเสี่ยงในการทำการเกษตร ถือเป็นการต่อยอดนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะ “สร้าง เสริม ยก” นั่นหมายถึง สร้างความเข้มแข็ง เสริมภูมิคุ้มกัน และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

"ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายในการยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ให้เกษตรกร โดยมีมาตรการต่างๆ ทั้งการตลาดนำการผลิต การลดต้นทุน Agri map การแปรรูป รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นต้น แต่สิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้คือภัยธรรมชาติต่าง ๆ และที่สำคัญคือโควิด-19 ซึ่งจากการที่รัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการชดเชยและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ขอยืนยันว่าไม่ใช่ภาระของรัฐบาล แต่เป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องดูแล แต่ก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ค่าใช้จ่ายนี้ลดน้อยให้มากที่สุด ซึ่งการลงนามในครั้งนี้ ถือเป็นทางเลือกใหม่ ที่มีมาตรฐานและสามารถสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องเกษตรกร โดยโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ในภาคการเกษตรเป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้เกษตรกรมีความตื่นตัวในการพัฒนาตัวเองและสร้างความเข้มแข็งด้วยตัวเอง รวมไปถึงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการด้านการเกษตร และรัฐบาลยังสามารถนำเม็ดเงินไปพัฒนาประเทศในด้านอื่นได้อีกด้วย" ดร.เฉลิมชัย กล่าว

ด้านนายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า สศก. มีความประสงค์ที่จะขยายขอบเขตของการประกันภัยในปัจจุบันไปสู่สินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือ ดูแล และคุ้มครองพี่น้องเกษตรกรไทย นอกเหนือไปจากข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตามนโยบายของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจ พืชรอง หรือสินค้าเกษตรที่มีอนาคตทางการตลาดสูง รวมถึงต่อยอดกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าเกษตรที่เอกชนเป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว ได้แก่ ทุเรียน ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ต้นไม้ โคเนื้อ และโคนม รวมไปถึงกัญชาในอนาคต โดย สศก. จะร่วมกับ คปภ. ดำเนินการภายใต้ “คณะกรรมการความร่วมมือพัฒนาระบบประกันภัยการเกษตร” เพื่อกำหนดทิศทางและแนวทางในการดำเนินการ สร้างทีมงานร่วมมือทางด้านวิชาการ คิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่ๆ โดยศึกษาข้อมูลอย่างครอบคลุม ครบทุกมิติความเสี่ยง ทั้งความผันผวนของปริมาณผลผลิต ราคา ตลาด และความต้องการของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งสร้างแรงจูงใจ สนับสนุนให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการคุ้มครองความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ หันมาใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทางการเงินของตนเอง

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...