นายพยุงศักดิ์ สิทธิลภ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดแม่ฮ่องสอน เตือนการระบาดศัตรูพืช โรคเน่าคอดิน สาเหตุเกิดจากเชื้อราพิเทียม พบการระบาดในผักตระกูลกระหล่ำและผักกาด (เช่น กะหล่ำปี กระหล่ำดอก บรอกโคลี ผักกาดขาว ผักกาดหัว ผักฮ่องเต้ ผักหางหงส์ ผักกวางตุ้ง คะน้า) เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงนี้อากาศเย็นในตอนกลางคืนและมีหมอกในตอนเช้า
ลักษณะอาการ บริเวณโคนติดกับผิวดิน มีลักษณะช้ำน้ำสีน้ำตาลเข้ม เมื่ออาการรุนแรง เนื้อเยื่อจะเกิดเป็นแผลเน่าลาม ทำให้ต้นกล้าเหี่ยวทั้งต้น หักล้มและตายก่อนแตกใบจริง บางครั้งเชื้อราอาจจะเข้าทำลายเมล็ดก่อนงอกพ้นดิน ทำให้เมล็ดไม่งอก หรืองอกออกมาแต่ไม่มีใบเลี้ยง
แนวทางป้องกันแก้ไข การเพาะกล้าในกระบะเพาะกล้า ควรใช้วัสดุที่สะอาดจากแหล่งที่ไม่มีการระบาดของโรค, แปลงปลูกควรไถพลิกกลับหน้าดินตากแดด เพื่อลดปริมาณเชื้อราสาเหตุโรคในดินก่อนปลูก, คลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารเมทาแลกซิล 35 เปอร์เซ็น ดีเอส อัตรา 7 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม ก่อนเพาะกล้า, ควรเพาะเมล็ดในระดับที่ไม่ลึกมาก และไม่แน่นจนเกินไป, ไม่ควรให้น้ำในแปลงเพาะกล้า จนชื้นแฉะเกินไป และเมื่อพบต้นที่เป็นโรค ถอนและนำไปทำลายนอกแปลงปลูกทันที และราดดินบริเวณที่เป็นโรค และบริเวณใกล้เคียงด้วยสาร โพรพาโมคาร์บไฮโรคลอไรด์ 72.2 เปอร์เซ็น เอสแอล 6-12 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไฮเมกชาโชล 36 เปอร์เซ็น เอสแอล อัตรา 22-26 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร