บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ขานรับยุคการแพทย์ทางไกล เดินหน้าพัฒนาบริการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ให้กับผู้ป่วยทั่วประเทศ โดยยังคงจัดส่งอุปกรณ์และยาที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลกว่า 400 แห่ง อาทิ เตียงสนาม น้ำยาล้างไต ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งในปี 2564 มีปริมากว่า 1 ล้านชิ้น นอกจากนี้ ยังอยู่ในช่วงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน มาทดลองการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ในพื้นที่ห่างไกลและเข้าถึงยาก ซึ่งคาดว่าในปี 2565 จะมีการนำร่องสู่โครงการต้นแบบในการให้บริการเพื่อขยายการให้บริการต่อไป
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน คนไทยเริ่มคุ้นชินกับการใช้บริการแพทย์ทางไกล (Telehealth/ Telemedicine) และบริการรับยาและเวชภัณฑ์ทางไปรษณีย์ ซึ่งเป็นการปรับตัวให้สอดรับตามสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยบริการนี้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ช่วยลดระยะเวลา ลดความเสี่ยงจากการสัมผัส รวมถึงลดความแออัดในโรงพยาบาล ตลอดจนยังเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลที่ต้องปฏิบัติภารกิจภายใต้สถานการณ์การระบาดของเชื้อ และการรักษาผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก
“จากการให้บริการที่ใกล้ชิดกับประชาชนของเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไทย เราไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่การขนส่งสิ่งของ แต่ยังให้ความสำคัญกับชีวิตและสุขภาพของคนไทยในภาวะที่ทุกคนยังต้องเผชิญกับโรคโควิด-19 ซึ่งไปรษณีย์ไทยก็ไม่หยุดการทำหน้าที่ในการเป็นตัวกลางส่งต่อสุขภาพดี ไม่ว่าจะเป็น ยา เวชภัณฑ์ สิ่งของจำเป็น อาทิ เตียงสนาม รวมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องรักษาอุณหภูมิอย่างน้ำยาล้างไต และกระดาษซับเลือดสำหรับทารกแรกเกิดจากโรงพยาบาลกว่า 400 แห่งถึงผู้ใช้บริการทั่วประเทศ รวมทั้งผู้ป่วย โควิด-19 ในโครงการ Home Isolation-Community Isolation โดยในปี 2564 มียอดรวมปริมาณการขนส่งมากกว่าหนึ่งล้านชิ้น ซึ่งบุรุษไปรษณีย์ทุกคนทำหน้าที่ด้วยหัวใจ เพราะทุกคนตระหนักดีว่าในการส่งยาและเวชภัณฑ์ให้แก่ผู้รับปลายทาง เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วยทั่วประเทศ
โดยนอกจากจะส่งด่วนด้วยบริการ EMS แล้ว ไปรษณีย์ไทยยังได้นำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้พัฒนาการให้บริการให้มีความเหมาะสมกับประเภทของสิ่งของและพื้นที่ที่จัดส่ง ซึ่งปัจจุบันไปรษณีย์ไทยอยู่ระหว่างศึกษาและพัฒนาการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาทดลองให้บริการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ผ่านอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรนในพื้นที่ห่างไกลและเข้าถึงยาก เพื่อเป็นการพัฒนา – ต่อยอดบริการด้านสาธารณสุขและยกระดับการให้ บริการให้สามารถจัดส่งยาให้กับผู้รับปลายทางได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางออกจากบ้าน ซึ่งคาดว่าในปี 2565 จะได้นำร่องโครงการต้นแบบในการให้บริการต่อไป”
อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่ต้องการใช้บริการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ทางไปรษณีย์เพื่อความสะดวกและลดการแออัด สามารถติดต่อ ขอใช้บริการได้ที่โรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษา และสำหรับโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลใดที่ต้องการเปิดให้บริการในลักษณะดังกล่าว สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ฝ่ายการขายและการตลาดไปรษณีย์ด่วนพิเศษโลจิสติกส์ โทรศัพท์ 0 2831 3975, 0 2982 8222 หรือทาง THP Contact Center 1545 www.thailandpost.co.th และที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่ง ดร.ดนันท์ กล่าวสรุป