พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า กทม.ได้เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์หากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยเฉพาะการยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 เน้นมาตรการป้องกันส่วนบุคคล พร้อมกำกับติดตามมาตรการ COVID Free Setting ในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด
โดยเฉพาะสถานที่เสี่ยง ได้แก่ ร้านอาหาร โรงแรม ห้างสรรพสินค้า พร้อมทั้งเพิ่มจุดตรวจคัดกรอง ATK ในสถานที่เดินทางสาธารณะ อีกทั้งเร่งรัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็ม 3 โดยเพิ่มจุดฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 11 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข 6 แห่งในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต และศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์กระตุ้นให้ประชาชนที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามช่วงระยะเวลาที่กำหนด
ซึ่งผู้ที่ฉีดวัคซีนทั้งสูตรเดี่ยวและสูตรไขว้ครบ 2 เข็ม ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2564 สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในเดือนธันวาคมนี้ และผู้ที่ฉีดครบช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2564 สามารถเข้ารับเข็มกระตุ้นได้ช่วงเดือนมกราคม 2565 ส่วนการนัดหมายฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น สามารถตรวจสอบได้ที่แพลตฟอร์ม หมอพร้อม ซึ่งจะมีการแจ้งเตือนและนัดหมายประชาชน เนื่องจากมีฐานข้อมูลของผู้รับวัคซีนในระบบอยู่แล้ว รวมถึงให้โรงพยาบาลทุกแห่งใช้ข้อมูลในระบบหมอพร้อมในการนัดหมายและประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนมารับวัคซีนเข็มกระตุ้น
นอกจากนี้ สำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ กทม. ยังมีแผนรองรับสถานการณ์หากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยให้สถานพยาบาลในสังกัดทุกแห่งใช้มาตรการ VUCA ประกอบด้วย V - Vaccine เร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้ได้มากที่สุด สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดครบ 6 เดือนแล้วให้เริ่มฉีดเข็ม 4 ขณะเดียวกันก็เร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั้งเข็ม 1-3 ในพื้นที่ กทม. ให้ครอบคลุมมากที่สุด โดยสามารถจองคิวผ่านระบบ QueQ พร้อมทั้งรณรงค์มาตรการ Universal Prevention ป้องกันตัวเองตลอดเวลา ห่างไกลจากโควิด จัดการโรงพยาบาลให้เป็นองค์กรปลอดโควิดตามมาตรการ COVID Free Setting มีการระบายอากาศ สุขอนามัยเหมาะสม สะอาดปลอดภัย และเว้นระยะห่าง รวมถึงมีการตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ และหากมีการระบาดจะเปลี่ยนไปเป็นการตรวจแบบ RT-PCR เพื่อความแม่นยำ
ในส่วนการเตรียมพร้อมรับการรักษาหากเกิดการระบาดใหม่ ได้มีการสำรองเตียงไว้ 2,537 เตียง โดยขณะนี้ทั้งโรงพยาบาลสนาม Hospitel ได้มีการตรวจสถานที่ เตรียมพร้อมบุคลากร อุปกรณ์ คู่สาย (สายด่วน 1669) พร้อมกับบริหารจัดการให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอดเวลา รวมทั้งมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากผู้ป่วยต้องแยกกักรักษาที่บ้าน (Home Isolation : HI) หรือส่งไปยังศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation : CI) เพื่อให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด