นายแพทย์เชน ปรีชาวณิชวงศ์ แพทย์แผนจีนประจำหยินหยางคลินิก เปิดเผยว่า “โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PolyCystic Ovary Syndrome) เกิดจากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ ทำให้ในรังไข่เต็มไปด้วยถุงน้ำ ถุงน้ำเหล่านั้นคือ ไข่ที่ใบเล็กเกินไป ผู้หญิงทั่วไปโดยปกติทุกๆ เดือนจะมีไข่โตเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. เพียง 1ใบหลุดออกมาจากรังไข่ หากได้ปฏิสนธิกับอสุจิก็จะทำให้ตั้งครรภ์ แต่หากไม่มีการปฏิสนธิ ผนังมดลูกก็จะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน
ทว่าคนที่เป็น PCOS นั้นไข่มักโตไม่เกิน 1 ซม. และมีมากกว่า 20 ใบ เมื่อเป็นเช่นนี้ผนังมดลูกจึงไม่หลุดลอก ประจำเดือนจึงมาช้า หรือขาดหายไปหลายเดือนได้ และเป็นสาเหตุหนึ่งของการมีบุตรยาก ผนังมดลูกที่ไม่หลุดลอกออกมาเป็นเวลานานยังเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งผนังมดลูกสูงขึ้นอีกด้วย
นอกจากเรื่องประจำเดือนแล้ว PCOS ยังทำให้ฮอร์โมนเพศชายในร่างกายสูง ส่งผลให้สิวขึ้น ผมร่วง มีขน มีหนวดได้ สาวๆ หลายท่านอาจไปปรึกษาหมอผิวหนังเพื่อรักษาสิว แต่หากว่าสาเหตุเกิดจาก PCOS แล้วไม่รักษาทางนรีเวชร่วมด้วย สิวก็จะเป็นเรื้อรังและรักษาหายได้ยาก
ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อยังทำให้ผู้ป่วย PCOS เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin resistance) ร่างกายย่อยน้ำตาลได้ไม่ดี เกิดการสะสมของไขมัน น้ำหนักตัวจึงขึ้นง่าย และเพิ่มความเสี่ยงการเป็นเบาหวานในอนาคตได้ แม้จะยังไม่ทราบว่าสาเหตุที่แท้จริงของ PCOS คืออะไร แต่หากดูที่ปัจจัยเสี่ยงแล้ว มักเกิดจากความเครียด การนอนดึก พักผ่อนน้อย การบริโภคแป้งหรือรสหวานมาก และขาดการออกกำลังกาย
แนวทางการรักษาโรค PCOS มักเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อน หากผู้ป่วย PCOS คนใดน้ำหนักมากก็ควรจะลดน้ำหนัก มีงานวิจัยบอกว่าหากลดน้ำหนักได้ 10% ของน้ำหนักตัว ประจำเดือนจะเริ่มกลับมาเป็นปกติมากขึ้น เช่น หนัก 80 กิโลกรัม ก็ควรลดให้ได้สัก 8 กิโลกรัม การพักผ่อนให้เพียงพอ การลดบริโภครสหวานหรือแป้งที่มากเกิน การออกกำลังกาย เป็นต้น หรือการให้ยาฮอร์โมน ยากระตุ้นไข่ต่างๆ เพื่อรักษาในลำดับถัดไป
แพทย์แผนจีนมองว่าการที่ประจำเดือนมาช้านั้นมีสาเหตุมาจาก
1. เลือดไม่เพียงพอ จึงไม่เป็นประจำเดือน ผู้หญิงกลุ่มนี้มักมีอาการอ่อนเพลีย หน้าซีด ความดันต่ำ
2. พลังไตไม่แข็งแรง เนื่องจากอวัยวะไตทางแพทย์แผนจีนดูแลระบบสืบพันธ์และสร้างเลือดด้วย เมื่อพลังไตไม่แข็งแรง เลือดจึงไม่เพียงพอ จึงไม่เป็นประจำเดือน ผู้หญิงกลุ่มนี้มักมีอายุมาก หรือป่วยบ่อยตั้งแต่เล็ก อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยเอวและเข่าง่าย เวียนศีรษะ เป็นต้น
3. ลมปราณอุดกั้น เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ผู้หญิงกลุ่มนี้มักมีความเครียดสะสม คัดเต้านมก่อนประจำเดือนมา หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย
4. ความชื้นและเสมหะอุดกั้น เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ผู้หญิงกลุ่มนี้มักมีน้ำหนักตัวมาก ตัวบวม มีสิวหนอง ท้องเสียง่าย ระบบการย่อยอาหารและการขับถ่ายแปรปรวน เป็นต้น
หลังแนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมกับการใช้ยาสมุนไพรจีนควบคู่กับการฝังเข็มเพื่อแก้ปัญหาจากภายในแล้ว ร่างกายจะสมดุลขึ้นและทำให้ไข่ตกได้เอง และประจำเดือนมาได้สม่ำเสมอขึ้น โดยไม่ได้ใช้ฮอร์โมนจากภายนอก ทำให้อาการต่างๆ ดีขึ้น ทั้งยังเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติได้อีกด้วย แพทย์แผนจีนจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจของการรักษา PCOS”