นายพิจินต์ อภิวันทนาพร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารการเงิน โออาร์ เปิดเผยว่า โออาร์ขยายในส่วนของธุรกิจ F&B โดยใช้งบฯลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาศูนย์ธุรกิจค้าปลีกโออาร์ บนพื้นที่ 200 ไร่ ที่ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
ประกอบด้วย ศูนย์ ดี.ซี. พื้นที่ 24,000 ตร.ม. ประมาณ 1,700 ล้านบาท โรงคั่วกาแฟ ประมาณ 800 ล้านบาท โรงงานเบเกอรี่ ขนาด 7,400 ตร.ม. ลงทุน 470 ล้านบาท และโรงงานผงผสม ขนาด 6,100 ตร.ม. ลงทุน 720 ล้านบาท และล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) โออาร์ได้อนุมัติงบประมาณการลงทุนเฟส 3 โดยการเพิ่มเครื่องคั่วกาแฟ 1 เครื่อง ด้วยงบประมาณ 800 ล้านบาท คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จในปี 2023 (2566)
นายสมยศ คงประเวช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจค้าปลีก โออาร์ เปิดเผยว่า หลังจากศูนย์ค้าปลีกวังน้อยแล้วเสร็จ จะทำให้ห่วงโซ่การผลิตธุรกิจ F&B ของโออาร์ มีครบทั้ง upstream ประกอบด้วย เม็ดกาแฟ วัตถุดิบ raw material และสินค้าสำเร็จรูป midstream คือโรงคั่ว (roasting plant) โรงงานเบเกอรี่ โรงงานผงผสม ศูนย์ ดี.ซี.และโลจิสติกส์ และ downstream ร้านกาแฟทั้งในและต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการทำธุรกิจบริการโรงแรมและรับจัดเลี้ยง หรือ HORECA และการจำหน่ายเครื่องดื่มแบบให้ผู้บริโภคซื้อกลับไปดื่มที่บ้านหรือ off trade
ปัจจุบันพอร์ตโฟลิโอในธุรกิจ F&B ของโออาร์ แบ่งเป็น ร้านคาเฟ่ อเมซอน ประมาณ 3,796 ร้าน ร้านเท็กซัส ชิคเก้น 87 ร้าน ร้านอาหารฮั่ว เซ่ง ฮง 40 ร้าน และร้าน Pearly Tea 159 ร้าน และยังมีการพัฒนาแบรนด์สินค้าร่วมกับพันธมิตร ประกอบด้วย การให้บริษัท มอดูลัส จำกัด บริษัทลูกร่วมกับบริษัท พีเบอร์รี่ไทย จำกัด จำหน่ายเมล็ดกาแฟ Pacamara และนำเข้าและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ชงกาแฟ
ทั้งยังมีร้านกาแฟ Pacamara อีกประมาณ 14 สาขา, ร่วมกับบริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด ในธุรกิจร้านอาหารเพื่อสุขภาพแบรนด์โอ้กะจู๋ ซึ่งได้เริ่มจำหน่ายแบบ Grab & Go จากนั้นเริ่มเปิดสาขาแรกที่พีทีที สเตชั่น เมืองทองธานี และบริษัท อิ่มทรัพย์ โกลบอล คูซีน จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารแบรนด์ Kouen ซูชิ
“ปีหน้ามีแผนจะเริ่มจำหน่ายเบเกอรี่ใหม่ 5 SKU เป็นครัวซองต์ 3 SKU และครอฟเฟิลอีก 2 SKU ทำได้สูงสุดถึงปีละ 40 ล้านชิ้น ตอนนี้เริ่มทดลองวางจำหน่ายเฉพาะในร้านกาแฟ Concept Store จากนี้ไปจะกระจายไปยังสาขาอื่น ๆ แต่เราไม่ได้มุ่งจะไปแข่งหรือซ้ำซ้อนกับซัพพลายเออร์ เน้นเป็นสินค้าคนละประเภท ส่วนร้านแฟรนไชส์ยังสามารถตัดสินใจเลือกว่าจะใช้หรือไม่ก็ได้”
นายสมยศกล่าวว่า ทั้งนี้ แผนการขยายกำลังการผลิตของโออาร์ ยังจะเน้นการรองรับการขยายสาขาร้านกาแฟและธุรกิจโอเรก้า โดยสามารถเพิ่มกำลังการผลิตสูงสุดได้ถึง 40 ล้านชิ้นต่อปี และครอบคลุมทั้งเบเกอรี่กลุ่ม ambient bakery และ fresh bakery ซึ่งมีขนมหลากหลายชนิด เช่น ฟรุตเค้ก มาการอง ทอฟฟี่เค้ก แซนด์วิช พร้อมทั้งวางระบบการเก็บรักษาแบบชิลรักษาอุณหภูมิ และแบบปกติไว้ด้วย ส่วนการกระจายสินค้าจะใช้ ดี.ซี. ซึ่งจะรองรับสินค้าปีละ 15 ล้านกล่อง ศูนย์นี้นอกจากพนักงาน 400 คนแล้วยังได้นำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้ประมาณ 50 ตัว
ส่วนโรงคั่วกาแฟ ปัจจุบันมี 2 เครื่อง รวมกำลังการผลิต 4,590 ตันต่อปี แต่หากติดตั้งเครื่องคั่วเครื่องที่ 3 เสร็จปี 2567 (2024) ทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มอีก 7,000 ตันต่อปี รวมเป็น 11,475 ตันต่อปี ถือเป็นโรงคั่วสำหรับร้านคาเฟ่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ สำหรับเมล็ดกาแฟที่คั่วได้ปัจจุบันจะถูกนำไปกระจายให้กับร้านคาเฟ่ อเมซอนทั้งหมด และยังได้ทำตลาดสินค้ากลุ่มกาแฟซองสำหรับซองสำหรับดริป โคลด์บลูสำหรับขายหน้าร้าน และทำตลาดเมล็ดกาแฟคั่วแบบออนไลน์
“แนวโน้มตลาดกาแฟสำหรับโฮมยูสเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น หลังจากที่ผู้บริโภคต้องทำงานที่บ้าน (work from home) ก็ทำให้ความต้องการสินค้ากลุ่มโฮมยูสเพิ่มขึ้น กาแฟแบบดริปก็ไปได้ดี แต่สัดส่วนรายได้ตอนนี้ในส่วนของเมล็ดกาแฟของร้านอยู่ที่ประมาณหลักหมื่นล้านบาท ส่วนโฮมยูสเพิ่งจะเริ่มต้น ยังมีสัดส่วนรายได้ประมาณหลักร้อยล้านบาท แต่ในไตรมาส 1 ปีหน้าเราจะเริ่มจำหน่ายสินค้าโฮมยูสรายการใหม่ออกสู่ตลาด เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่นิยมทำเองที่บ้านด้วย”
อย่างไรก็ตาม ในส่วนต้นน้ำ บริษัทไม่ได้ขยายลงไปทำไร่กาแฟเอง แต่เลือกใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด โดยประกันราคารับซื้อเมล็ดกาแฟเพื่อช่วยเหลือส่งเสริมอาชีพเกษตรกร ทั้งอราบิก้าจากวิสาหกิจชุมชนทางภาคเหนือ โครงการหลวง และยังมีการรับซื้อเมล็ดกาแฟโรบัสต้าจากทางใต้ มาผสมผสานกัน นอกจากนี้ ยังมีโรงงานผงผสม ซึ่งจะใช้ผลิตผงโกโก้ผสม, ผงผสมสำหรับกาแฟ, ผงชาเขียว, น้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายแดง และครีม ที่มีกำลังการผลิตมากถึง 13,000 ตันต่อปี ทั้งนี้เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่เป็นไปตามมาตรฐาน และเพื่อความปลอดภัย
นายนิวัฒน์ จิตจำนงค์เมต ผู้จัดการฝ่ายบริหารธุรกิจร้านคาเฟ่ อเมซอน โออาร์ กล่าวว่า ปัจจุบันไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยน นิยมเข้าร้านคาเฟ่ เพื่อซื้อกาแฟและถ่ายรูป โออาร์จึงพัฒนาร้านกาแฟรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Amazon Concept Store เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มนี้ โดยลักษณะจะเป็นการตั้งร้านนอกสถานีบริการ หรือสแตนด์อะโลน นำร่องที่ จ.พระนครศรีอยุธยา การออกแบบโดยมีคอนเซ็ปต์ที่สอดรับกับสถาปัตยกรรมในพื้นที่เป็นจุดเด่น และมีการออกแบบเมนูพิเศษเฉพาะพื้นที่ (signature) ด้วย
โดยร้านที่อยุธยาจะมีการนำวัตถุดิบหรือสินค้าที่ขึ้นชื่อในพื้นที่ เช่น น้ำมะพร้าว นำมาทำเมนู Americoco ผสมกับอเมริกาโน่ หรือการนำโรตีสายไหมมาทำเป็นเมนู Unicorn Cotton Canddy Frappe สร้างจุดเด่นสินค้าให้เฉพาะสาขาในท้องถิ่นนั้น และมีการพัฒนาเมนูโดยใช้เมล็ดกาแฟอราบิก้าที่พิเศษสำหรับนักดื่มกาแฟ (specialty coffee) มีเมนูที่แตกต่างอย่างหลากหลายขึ้น เช่น เมนู Flat White ซึ่งเป็นกาแฟร้อนมีส่วนผสมนมมาจากทางออสเตรเลีย เป็นต้น
ปีหน้ามีแผนจะเพิ่มร้านกาแฟ Concept Store อีก 2 สาขา ซึ่งจะเป็นคนละแนวกับอยุธยา คือ ที่ กม.62 ถนนวิภาวดีรังสิต และที่ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง จะเป็นแนวจังเกิล โดยบริษัทจะเป็นผู้ลงทุนเอง จะไม่ขายแฟรนไชส์ เพราะต้องใช้พื้นที่กว้างและเงินลงทุนสูง จากปกติลงทุน 2 ล้านบาท แต่ร้านประเภทนี้จะลงทุน 20 ล้านบาท และระยะเวลาในการคืนทุนจะนานกว่าจากปกติ
หากขายได้วันละ 250 แก้วขึ้นไปจะคืนทุนภายใน 2 ปี แต่ร้าน Concept Store แม้ว่าจะมียอดขายต่อวันมากกว่าประมาณ 1,000-1,400 แก้ว จะใช้เวลาในการคืนทุนนานกว่า โดยปัจจุบันธุรกิจร้านกาแฟอเมซอน ที่มี 3,500 สาขา เป็นการลงทุนและบริหารโดยบริษัท 20% และการลงทุนแบบดีลเลอร์ลงทุนและบริหารเอง หรือแบบแฟรนไชส์ 80%