นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์โควิด-19 หลังปีใหม่ เพื่อการดูแลผู้ป่วยที่รักษาตัวเองที่บ้าน(Home Isolation) และศูนย์พักคอยในชุมชน(Community Isolation) ว่า สํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) หลังจากที่ สปสช.ได้รับนโยบายจากกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เราก็ได้เตรียมความพร้อมทันทีแม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังไม่สูงมากเหมือนกับที่เราเคยเจอวันละ 1-2 หมื่นราย
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ทาง สปสช.เตรียมระบบหากพบผู้ติดเชื้อแล้วต้องนำเข้าระบบแยกกักที่บ้าน(HI) ที่ชุมชน(CI) หรือเข้าโรงพยาบาล(รพ.) ตามความรุนแรงของผู้ติดเชื้อได้ โดยเตรียมความพร้อมสายคอลเซ็นเตอร์ ที่โทรเข้าพร้อมกันในวินาทีเดียว 3,000 คู่สาย มีผู้รับสายประมาณ 500 คน และเตรียมคนรับสายไว้เพิ่มทุกภาคของประเทศ เช่น ผู้พิการ จิตอาสาที่สื่อสารภาษาต่างประเทศด้วย ซึ่งเราตั้งเป้าหมายว่า เมื่อมีการโทรศัพท์จากผู้ติดเชื้อไม่ว่าจะเป็นผลบวกจากการตรวจ RT-PCR หรือ ATK เมื่อโทรเข้ามาที่เบอร์ 1330 ที่เราปรับให้เหลือเพียงเบอร์เดียว แต่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลทั้งหมด จะต้องมีการติดต่อกลับไปภายใน 6 ชั่วโมง นอกจากนั้นยังสามารถติดต่อผ่านไลน์บัญชีทางการที่ @nhso ได้ด้วย
โดยเราจะดูแลทุกวัน แต่เวลาจะลดจาก 14 เหลือ 10 วัน ซึ่งจะส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์จำเป็นไปให้ผู้ติดเชื้อ และมีแพทย์โทรถามอาการวันละ 1 ครั้งเพราะข้อมูลตอนนี้พบว่าโอมิครอนคืออาการไม่รุนแรง รวมถึงคนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนป้องกัน ตรงนี้ก็จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามแนวทางการรักษาผู้ป่วยของกรมการแพทย์ ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อที่อาจจะเกิดความรุนแรงของโรค เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคร่วม ผู้มีภาวะอ้วน เราต้องจัดระบบเข้า รพ. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจว่า จังหวัดใดมีรพ.ใดพร้อม เพื่อจับคู่กับพื้นที่ไว้ เมื่อมีผู้ป่วยโทรศัพท์เข้ามาเราก็จะดำเนินการได้ทันที
“เราใช้เวลา 2-3 เดือนนี้เตรียมความพร้อมแล้ว เชื่อว่าสถานการณ์ครั้งนี้จะดีกว่าเดิม เชื่อมั่นว่าระบบจะไม่มีการสายหลุด จากบทเรียนครั้งที่แล้วที่มีความวุ่นวาย เราจึงปรับให้เหลือเบอร์เดียวคือ 1330 และข้อมูลจะมารวมเป็นฐานเดียวกัน เพื่อให้เราเห็นว่าคนไข้อยู่ตรงไหน” นพ.จเด็จกล่าว
ทั้งนี้ นพ.จเด็จ กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกับกรมการแพทย์ ทาง นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ยืนยันว่า หากเป็นกรุงเทพมหานคร ในระบบรพ.ของกรมการแพทย์ สามารถรองรับระบบ HI ได้วันละ 1,000 ราย ติดต่อกลับไปภายใน 6 ชั่วโมง
เมื่อถามว่ามีการประสานกับเครือข่ายเพื่อช่วยส่งอุปกรณ์ไปยังผู้ติดเชื้อ HI อย่างไรบ้าง นพ.จเด็จ กล่าวว่า ขณะนี้เรามีทีมงานภาคประชาชนอยู่กลุ่มหนึ่ง ที่ได้ทำงานร่วมกันตั้งแต่การระบาดครั้งก่อน ทั้งในนามมูลนิธิ และจิตอาสา เราก็เริ่มกลับมาประสานกันใหม่ว่า ตามที่เราเคยเตรียมกันไว้ในการส่งอุปกรณ์ต่างๆ เราก็เชื่อมตรงนี้เข้ามาหมด
เมื่อถามว่าเราให้ความมั่นใจกับประชาชนได้หรือไม่ว่าหลังจากนี้หากมีการตรวจ ATK ให้ผลบวกแล้ว จะได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที นพ.จเด็จ กล่าวว่า หวังว่าบทเรียนในช่วงที่ผ่านมาจะทำให้เราดีขึ้น และตนเชื่อว่าประชาชนเข้าใจดีขึ้น
“มีบางส่วนที่อาจจะคิดว่าเมื่อป่วยแล้วจะต้องเข้า รพ. แต่ต้องรบกวนทางสื่อช่วยกันสื่อสารว่าหากเป็นโอมิครอนตามที่ สธ.มีข้อมูลว่าอาจจะไม่รุนแรงมากนัก การดูแลที่บ้านก็อาจจะเหมาะ แต่ตอนนี้เราก็เข้าระวังอยู่ว่าจะมีการติดเชื้อในเด็ก เราก็เตรียมสถานที่ เพื่อประสานกับพื้นที่อยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเรายังไม่ได้เกิดการระบาดโอมิครอนจนกระทั่งเราคุมสถานการณ์ไม่ได้ ครั้งนี้เรามีบทเรียนว่าถ้าเราประมาท เราจะมีปัญหา จึงขออนุญาตตื่นตระหนก เพื่อให้ประชาชนมีความสบายใจว่าเราเตรียมไว้ แต่ถ้าไม่ได้ใช้ก็ไม่เป็นไร” นพ.จเด็จ กล่าว