โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่าโครงการนี้ ภายใต้แนวคิด “4 ให้” 1) การให้ทักษะ ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 18 แห่ง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยในโครงการยุวพัฒน์รักถิ่น 64 แห่ง กว่า 900 ชุมชน และเครือข่ายเชฟชื่อดังระดับมิชลินสตาร์ ตลอดจนเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์มากมาย ในการช่วยกันฝึกอบรมและสร้างทักษะอาชีพแก่ประชาชนรวมกว่า 100 หลักสูตร ช่วยให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้มีความรู้ติดตัว สามารถใช้ประกอบอาชีพได้จริงต่อไป 2) ให้เงินทุน เริ่มต้นให้เงินทุนผ่านมาตรการสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดย ครม. มีมติอนุมัติวงเงินชดเชยความเสียหายจาก NPLs ร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อโครงการ เพื่อสนับสนุนผลักดันความสำเร็จของการมอบความช่วยเหลือในระยะแรกของโครงการ ซึ่งในอนาคตจะมีมาตรการสินเชื่ออื่น ๆ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง 3) ให้อุปกรณ์ และ 4) ให้พื้นที่ค้าขาย โดยร่วมมือจากกรุงเทพมหานคร และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ให้อุปกรณ์ มอบรถเข็น เต็นท์ ร่ม และพื้นที่ค้าขาย แก่ผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อย ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวนกว่า 3,300 ร้านค้า รวมถึงการให้ใช้พื้นที่ของสาขาธนาคารออมสิน สำนักงานภาค หรือ สำนักงานเขต จัดเป็นตลาดนัดออมสิน เปิดโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบการรายย่อย ตั้งแผงค้าขายสินค้าได้ และสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์สินค้า/ร้านค้า ผ่านช่องทางออนไลน์ ภายใต้โครงการตลาดนัดออนไลน์ ช่องทาง คือ เพจเฟสบุ๊ก ตลาดนัดออมสิน เป็นต้น
“โครงการ “ออมสิน สร้างงาน สร้างอาชีพ” ภายใต้แนวคิด “4 ให้” ให้ทักษะ ให้เงินทุน ให้อุปกรณ์ และให้พื้นที่ค้าขาย ถือเป็นการมอบความช่วยเหลือที่ยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ที่เดือดร้อนจำนวนมาก ได้มีการปรับตัวและมองเห็นโอกาสใหม่ในการประกอบอาชีพ เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส สามารถใช้ความรู้ใหม่และทักษะทางอาชีพที่ได้รับการถ่ายทอด เป็นทางเลือกและช่องทางต่อยอดในการประกอบอาชีพมากขึ้น ให้สามารถยังชีพตนเองและดูแลครอบครัวต่อไปได้ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของท่านนายกฯ” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว