สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำนวัตกรรมที่เกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นของนักวิชาการมหาวิทยาลัยออกแสดงในรูปแบบ mini exhibition ที่ชั้น 9 อาคาร 2 ศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้คุณหญิงหลงอรรถกระวีสุนทร ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2564 - 31 มกราคม 2565 ซึ่งหลายชิ้นได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนและนำเข้าสู่เชิงพาณิชย์ เช่น ผลิตภัณฑ์ยางปูพื้น วัสดุจักสานจากยางธรรมชาติ แผ่นหนังเทียมจากยางพารา กระเป๋า ถุงมือยางที่ผสมสารที่สามารถกำจัดเชื้อโควิด-19 ได้ นอกจากนั้นก็มีวัสดุแปรรูปจากยางที่เป็นผลงานเด่น คือ กรวยยางจุดระเบิด ที่ทำให้การกระจายของเศษหินดินจากการระเบิดลดลง ซึ่งจะได้มีการทำวิจัยและรวบรวมข้อมูลเชิงวิชาการเพื่อตีพิมพ์ เพื่อสื่อถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ นอกจากนั้นยังมีผลิตภัณฑ์เทอร์โมพลาสติกที่ทำจากวัตถุดิบที่มีการปรับคุณสมบัติของยางให้สามารถผสมกับพลาสติกได้เพื่อทำให้เป็นวัสดุใหม่ เป็นการเปลี่ยนแนวทางการแปรรูปพลาสติกในอนาคตซึ่งต้องมียางผสมอยู่ และ ของเล่นเด็กที่ทำจากยางธรรมชาติเทอโมพลาสติกที่ผสมกับขี้เลื่อยที่มีความยืดหยุ่นไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บเมื่อเกิดการกระแทก และลดปัญหาการขึ้นรา
รองศาตราจารย์ ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา ได้กล่าวไว้ในช่วงเปิดงาน mini exhibition ว่าสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (NR-IRI PSU) เป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนภารกิจด้านยางพารา เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการพัฒนานวัตกรรมยางพาราสู่เชิงพาณิชย์ ทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เน้นการผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ และส่งเสริมนักวิจัยคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยภารกิจของสถาบันมี 5 ด้าน คือ การสร้างองค์ความรู้ให้นักวิจัยสามารถตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติการสร้างนวัตกรรมใหม่หาคุณค่าใหม่จากองค์ความรู้มีอยู่หลากหลาย การส่งเสริมให้นำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ การสร้างเครือข่ายการแบ่งปันความรู้ และการผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการใหม่และเป็นช่องทางในการรับโจทย์วิจัยเพื่อกระจายให้กับนักวิชาการ นอกจากนั้นยังได้กล่าวถึงความร่วมมือในการขับเคลื่อนจากหน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยในทุกวิทยาเขต ที่มีสาขาที่สามารถร่วมงานด้วยกันได้ ซึ่งทุกวันนี้วันนี้เรื่องของยางพาราไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะในทางวิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่มีการพูดถึงในด้านสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และต้องใช้การสื่อสารให้เกิดความเข้าใจและเข้ามาร่วมขับเคลื่อนด้วยกัน