พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นรม.และรมว.กห. ผลักดันให้ปี 2565 เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” ให้สำเร็จให้ได้ ล่าสุดสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการตามมติครม. เมื่อ 21 ธ.ค.64 ผลักดันร่าง พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เข้าสู่รัฐสภาพิจารณา
ความคืบหน้าของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ในการดำเนินการตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครอบคลุม 8 กลุ่มหนี้ ได้แก่
1) การแก้ปัญหาหนี้ กยศ. ปฏิรูปรูปแบบการชำระหนี้ อาทิ ปรับปรุงรูปแบบการจ่ายชำระหนี้คืน จาก “รายปี” เป็น “รายเดือน” เป็นชำระคืนค่างวดแบบเฉลี่ย “เท่ากันทุกเดือน” เป็นต้น
2) กำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ ผ่านกลไกธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินของรัฐ
3) การแก้ปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เช่น การประกาศกรอบอัตราค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ที่ช่วยคุ้มครองลูกหนี้ไม่ให้ถูกเรียกเก็บเงินในการทวงถามหนี้เกินความจำเป็น เป็นต้น
4) การแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการครูและข้าราชการตำรวจ อาทิ ยุบยอดหนี้โดยใช้ทรัพย์สินและรายได้ในอนาคตของครู ปรับลดอัตราการถือหุ้นรายเดือน เป็นต้น
5) การปรับลดและทบทวนโครงสร้างและเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และการออกมาตรการคุ้มครองสิทธิ์ของลูกหนี้ กระทรวงการคลังได้ปรับลดเพดานเงินกู้สินเชื่อ PICO Finance ลงจาก 36% เหลือ 33% สำหรับลูกหนี้ที่วางหลักประกัน ธปท. ออกมาตรการแก้ไขหนี้สินระยะยาวเพิ่มเติม ด้วยการสนับสนุนการรีไฟแนนซ์ (Refinance) และการรวมหนี้ ลดข้อจำกัดการทำรีไฟแนนซ์หนี้
6) การแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล จัดตั้ง “คลินิกแก้หนี้” เพื่อเป็น platform กลางในการแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น
7) การแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อยและSMEs ผ่านโครงการ soft loan และสินเชื่อฟื้นฟูของ ธปท.
8) การปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม มีการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงิน (TBMC)
นายกฯ มองว่า กับดักหนี้ครัวเรือน (Debt Trap) ถือเป็นหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของประเทศที่จำเป็นต้องแก้ไข และตั้งใจช่วยลูกหนี้รายย่อย หนี้ครัวเรือน ลด/ปลดหนี้ ด้วยการเน้นออกแบบมาตรการมาเฉพาะรายกลุ่ม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการชำระหนี้