นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่าการประชุม ครม. ในวันนี้กระทรวงเกษตรฯได้มีการเสนอแนวทางแก้ปัญหาเนื้อหมูแพงต่อพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ แก้ปัญหาด่วนที่สุด โดยจะเสนอให้นายกฯ สั่งการกระทรวงพาณิชย์ระงับการส่งออกหมูเพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อหมูในประเทศซึ่งจะส่งผลให้ราคาเริ่มปรับลดลงทันที ส่วนกระทรวงเกษตรฯ จะส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยและรายเล็กซึ่งหยุดเลี้ยง กลับมาเลี้ยงใหม่ พร้อมเสนอให้มีการแก้ไขปัญหาปัจจัยเรื่องอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรหยุดเลี้ยงนั้นโดย เสนอนายกฯ พิจารณาช่วยเหลือเช่น การลดภาษีนำเข้าข้าวโพดและถั่วเหลือง รวมถึงส่งเสริมการปลูกพืชในประเทศเพื่อให้วัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ราคาต่ำลง
ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2561 – 2564 มีการระบาดของโรคที่สำคัญในสุกรได้แก่ โรคพีอาร์อาร์ โรคปากและเท้าเปื่อย โรคอหิวาต์สุกรซึ่งเป็นโรคที่พบในประเทศอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่ระบาดในประเทศเพื่อนบ้านรอบไทยซึ่งกรมปศุสัตว์ป้องกันอย่างเข้มงวด โดยเมื่อพบหมูป่วยหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงจะกำจัดทันทีซึ่งเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ปริมาณหมูในปี 2564 ลดลงจากปี 2563 จากผลิตได้ปีละ 20 ล้านตัวเหลือ 19 ล้านตัว โดยส่งออก 1 ล้านตัว คงเหลือบริโภคในประเทศ 18 ล้านตัว แต่ยืนยันว่า โรค ASF ยังไม่พบในประเทศไทยซึ่งตามที่พรรคเพื่อไทยแถงในวันนี้ว่า รัฐปล่อยให้มีการระบาดนั้น ไม่เป็นความจริง เมื่อกระทรวงเกษตรฯ ชี้แจงแล้ว ผู้แทนราษฎรจะเข้าใจ
นอกจากนี้ยัง จะขอความร่วมมือผู้เลี้ยงรายกลางและรายใหญ่ให้ผลิตลูกหมูให้รายย่อยและรายเล็กไปเลี้ยงซึ่งเชื่อว่า รายกลางและรายใหญ่ซึ่งได้กำไรไปมากในช่วงที่รายย่อยและรายเล็กจำนวนมากหยุดเลี้ยงจะให้ความร่วมมือ สำหรับการสนับสนุนการเลี้ยง จะมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กู้ยืมจากธ.ก.ส. ในโครงการสานฝันสร้างอาชีพและยกระดับรายได้เกษตรกรซึ่งมีวงเงินรวม 3 หมื่นล้านบาทเพื่อให้ใช้ปรับปรุงระบบความปลอดภัยทางชีวภาพของฟาร์มซึ่งจะป้องกันโรคระบาดสัตว์ได้อย่างดี
ขณะที่นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า เมื่อมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ผ่อนคลาย ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์สูง เมื่อร่วมกับปัจจัยที่ปริมาณการเลี้ยงลดลง จึงทำให้ราคาเนื้อหมูปรับตัวสูงขึ้น สำหรับการยกระดับมาตรฐานฟาร์มของเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาดจะส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) ซึ่งค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาตรฐานฟาร์ม GAP เพื่อไม่ให้ต้นทุนการเลี้ยงสูงซึ่งมั่นใจว่า มาตรการสนับสนุนต่างๆ จะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงใหม่และเพิ่มปริมาณการผลิตหมูให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคซึ่งจะเป็นผลให้ราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อไป