นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) กล่าวว่า อคส.วางเป้าหมายรายได้ในปี 2565 อยู่ที่ 2,000 ล้านบาท จากปี 2564 ที่คาดการณ์ไว้ว่าจะมีรายได้ทั้งปี 1,300 ล้านบาท แต่ยังคงไม่มีกำไร ปัจจัยหลักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้การให้เช่าคลังซึ่งเป็นธุรกิจหลัก
โดยในปี 2565 อคส.จะปรับโครงสร้างภายในองค์กร ปรับลดในส่วนงานออฟฟิศลงจาก 7 สำนัก เหลือ 5 สำนัก และเพิ่มเติมเน้นส่วนงานที่หารายได้เพิ่มขึ้น จาก 5 สำนักให้สอดคล้องกับเป้าหมายรายได้ที่ตั้งไว้ พร้อมทั้งเพิ่มช่องทางการหารายได้โดยเฉพาะการขยายสู่ธุรกิจคลังสินค้า หรือแวร์เฮาส์ เพราะต้องการให้ อคส.มีช่องทางรายได้ที่สามารถเลี้ยงองค์กรได้ อย่างไรก็ดี อคส.ยังคงให้ความสำคัญเรื่องการ “ซ่อม สร้าง เพิ่ม สะสาง” ซึ่งเป็นเป้าหมายการดำเนินงานตั้งแต่ที่เข้ามาทำหน้าที่ ผอ.อคส.
นอกจากนี้ อคส.ยังจะเพิ่มเครือข่ายเชื่อมโยงงานด้านการสร้างรายได้ โดยจะประสานไปยังสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ทั่วโลก เพื่อหาช่องทางตลาดไว้รองรับ ว่ามีความต้องการสินค้าอะไร และ อคส.มีสินค้าอะไรที่พร้อมที่จะขาย ซึ่งเป็นการหาตลาดรองรับ ซึ่งก็มีความคืบหน้าไปมาก เป้าหมายสินค้าที่จำหน่ายก็ยังเป็นสินค้าเกษตร
สำหรับรายได้ที่คาดว่าจะเป็นส่วนใหญ่ของ อคส. คือ คลังสินค้า ห้องเย็น แวร์เฮาส์ เป้าหมายรายได้โตเพิ่ม 30% จากรายได้เดิมอยู่ที่ปีละ 60 ล้านบาท ส่วนรายได้จากการขายข้าวให้กับเรือนจำ เป้าหมายเพิ่ม 100 ล้านบาท จากเดิมที่ขายได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ อคส.อยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตดำเนินกิจการธุรกิจห้องเย็น โดยใช้พื้นที่บริเวณราษฎร์บูรณะ 6 คลังสินค้า ปรับปรุงเพื่อทำเป็นห้องเย็น ซึ่งหากดำเนินการได้คาดว่าจะมีรายได้ให้ อคส.ได้ประมาณ 400 ล้านบาทต่อปี ในปี 2567
นายเกรียงศักดิ์กล่าวอีกว่า นอกจากการใช้พื้นที่ อคส.ในการสร้างรายได้แล้ว ยังจะหาพื้นที่เปล่าที่มีศักยภาพ เพื่อเช่าพัฒนาเป็นธุรกิจใหม่สร้างรายได้ให้กับองค์กร โดยเบื้องต้นมีพื้นที่น่าสนใจหลายแห่ง เช่น ลพบุรี มีความเหมาะสมที่จะทำคลังสินค้าเพื่อเก็บสินค้าเกษตร, ประจวบคีรีขันธ์ เหมาะสำหรับทำคลังสินค้ามะพร้าว
จ.ตรัง เหมาะที่จะหาพื้นที่พัฒนาใช้เป็นท่าเรือ เพื่อส่งออกสินค้า เช่น น้ำมันปาล์มไปอินเดีย, จ.กระบี่ เตรียมประสานพัฒนาทำโรงเชือดแพะ และในภาคอีสาน เช่น จ.ขอนแก่น และ จ.อุดรธานี เหมาะที่จะพัฒนาพื้นที่ในด้านการส่งออกสินค้าโดยช่องทางผ่าน สปป.ลาวไปสู่จีน โดยเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟจีน-ลาว
โดยพื้นที่ต่าง ๆ ที่ อคส.พิจารณาไว้นั้น แต่ละพื้นที่พิจารณาพัฒนาทำธุรกิจที่จะสอดรับกับวัตถุดิบในแต่ละแหล่ง และความต้องการของตลาด ซึ่งหากพื้นที่นั้นยังขาดการลงทุน อคส.ก็ดึงลูกค้าไปด้วย โดยมั่นใจว่ามีกลุ่มลูกค้ารองรับอยู่แล้ว
“การที่ อคส.ไปหาพื้นที่ต่าง ๆ เป็นช่องทางในการทำรายได้ โดยจะเลือกพื้นที่ที่ใกล้วัตถุดิบ เหตุที่ อคส.ไม่ใช้ที่ดินซึ่งมีประมาณ 80-100 ไร่ กระจายอยู่หลายพื้นที่มาดำเนินการ เพราะพื้นที่ อคส.เป็นพื้นที่หัวแตก พื้นที่ปิด ห่างไกลสาธารณูปโภค ไม่มีน้ำ ห่างเส้นทางคมนาคม กันดาร อคส.จึงใช้พื้นที่ที่มีไม่ได้ หากลงทุนไปก็คาดว่าไม่คุ้มทุน”
“แต่การหาพื้นที่อื่นที่ใกล้เส้นทางคมนาคม สาธารณูปโภค จะง่ายต่อการลงทุน หาวัตถุดิบ ลูกค้าได้ดีกว่า อคส.จึงหาพื้นที่เช่าแทน โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ดูเป็นพื้นที่ราชพัสดุ ซึ่งยังมีหลายพื้นที่ที่ดี ทั้งทางใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป้าหมายหลักจะทำคลังสินค้า ห้องเย็น คาดว่าในช่วงต้นปีน่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น”