กรมชลฯ ติดตามสถานการณ์น้ำแล้งปี 65 อย่างใกล้ชิด รณรงค์ทุกภาคส่วนช่วยใช้น้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่า
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ (กทม.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา นายประยูร เย็นใจ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านจัดสรรน้ำ) และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า วันที่10 ม.ค.65 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 56,855 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ 32,923 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 8,070 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 36 ของปริมาณน้ำใช้การได้ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 13,761 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 7,065 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 1,525 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 27
สำหรับผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2564/65 ทั้งประเทศเพาะปลูกข้าวไปแล้ว 4.05 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 63 ของแผนฯ เฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 2.80 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 99 ของแผนฯ ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทาน โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ให้ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติสนับสนุนการเกษตรก่อน จากนั้นจะใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำช่วยเสริม พร้อมกับเดินหน้าตามมาตรการรับมือการขาดแคลนน้ำ ปี 64/65 ทั้ง 8 มาตรการอย่างเคร่งครัด เน้นย้ำน้ำอุปโภคบริโภค ต้องเพียงพอตลอดทั้งปี ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ รวมทั้งขอความร่วมมือเกษตรกร และประชาชนทุกภาคส่วน ให้ตระหนักถึงปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด และร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่า รวมทั้งควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปรังให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพื่อลดความเสี่ยงปัญหาขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต