ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช.จะจัดเฟซบุ๊ก ไลฟ์ (Facebook Live) ชี้แจงแนวทางการจัดส่งอาหารให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้าระบบการรักษาที่บ้าน (Home Isolation: HI) โดยเครือข่ายสมาคมภัตตาคารไทย ในวันที่ 12 มกราคมนี้ จึงขอเชิญชวนหน่วยบริการสาธารณสุขทั่วประเทศร่วมรับฟังได้ที่เพจเฟซบุ๊กของ สปสช. (https://www.facebook.com/NHSO.Thailand) ในเวลา 13.30 น. เป็นต้นไป
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า การชี้แจงในครั้งนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจกับหน่วยบริการ เพื่อรับมือกับการระบาดในระลอกใหม่เดือนมกราคม 2565 ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งตามระบบที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) วางแผนไว้จะใช้พื้นที่เตียงในโรงพยาบาล (รพ.) เพื่อรองรับผู้ป่วยอาการปานกลางและอาการหนัก ส่วนผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงหรือไม่แสดงอาการ จะเน้นให้เข้าระบบ HI เพื่อรักษาตัวที่บ้านหรือในชุมชน และเตรียมระบบส่งต่อเข้ามาที่ รพ.ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากขึ้น
“ด้วยลักษณะของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่เชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดลต้า เราคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อมากพอสมควร อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงหรือไม่แสดงอาการ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมของระบบ HI จึงมีความสำคัญไม่แพ้การเตรียมการใน รพ. ปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้การกักตัวรักษาที่บ้านเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คือ ต้องให้ผู้ติดเชื้ออยู่แต่ในบ้านไม่ออกไปไหน ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องอาหารการกิน ดังนั้น นอกเหนือจากการจ่ายค่ายา ค่าอุปกรณ์และค่าบริการทางการแพทย์แล้ว สปสช. เราจึงจ่ายเงินค่าอาหารเพื่อให้หน่วยบริการจัดส่งอาหารให้แก่ผู้ป่วยวันละ 3 มื้อ ซึ่งก็จะมีการชี้แจงรายละเอียดการจ่ายและแนวทางการจัดการให้กับหน่วยบริการทั่วประเทศในวันที่ 12 มกราคมนี้” ทพ.อรรถพร กล่าว
รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวอีกว่า ในการชี้แจงครั้งนี้ จะมีผู้บรรยายคือ พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สายงานบริหารกองทุน สปสช. ซึ่งจะมาชี้แจงเรื่องการเบิกจ่ายค่าอาหารที่จัดส่งให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้าระบบการรักษาที่บ้าน HI และ นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ซึ่งจะชี้แจงรายละเอียดการจัดการ งบประมาณ และวิธีการส่งอาหารให้ผู้ป่วยซึ่งดำเนินการโดยเครือข่ายสมาคมภัตตาคารไทย เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้แก่หน่วยบริการในการจัดส่งอาหารให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน ซึ่งตัวแทนหน่วยบริการที่เข้าร่วม สามารถสอบถามหรือเสนอข้อคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ไลฟ์ เพื่อให้วิทยากรทั้ง 2 คนสามารถชี้แจงข้อสงสัยต่างๆ และจะทำให้การดำเนินงานและการเบิกจ่ายของหน่วยบริการเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่เกิดข้อผิดพลาดทางเทคนิคจนทำให้การเบิกจ่ายล่าช้า” ทพ.อรรถพร กล่าว