นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทย ได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีประเทศเอเชียด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 19 - 21 มกราคม ณ ประเทศมาเลเซีย ผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ร่วมกับประเทศที่เป็นถิ่นอาศัยของเสือโคร่งรวม 13 ประเทศ ซึ่งไทยถือเป็นต้นแบบของการอนุรักษ์และฟื้นฟูเสือโคร่ง เนื่องจากสามารถเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งในป่าธรรมชาติได้เป็นผลสำเร็จ โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีประเทศเอเชียด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และนำเสนอผลสำเร็จของการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งของประเทศไทยให้กับประเทศอื่นๆ และร่วมพิจารณาร่างแถลงการณ์กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการอนุรักษ์เสือโคร่ง พร้อมร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการ South East Asia Tiger Recovery Action Plan (STRAP) และแผนงบประมาณเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่ง โดยวันพรุ่งนี้ (21 ม.ค.65) ผู้แทนระดับรัฐมนตรีของแต่ละประเทศจะเข้าร่วมการประชุมที่มีรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติประเทศมาเลเซีย เป็นประธานการประชุม
รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 13 ประเทศที่เป็นถิ่นอาศัยของเสือโคร่ง การเข้าร่วมประชุมการอนุรักษ์เสือโคร่งจะทำให้ไทยได้รับประโยชน์ร่วมดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่ง และได้รับการยอมรับการเป็นผู้นำกลุ่มประเทศในเอเชียที่ให้ความสำคัญส่งเสริมการอนุรักษ์เสือโคร่งและสัตว์ป่าชนิดอื่นที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาวิจัยและการอนุรักษ์เสือโคร่งร่วมกับนักอนุรักษ์ระดับโลก รวมทั้ง ได้เป็นสมาชิกเครือข่ายการอนุรักษ์ระดับโลก การป้องกันการลักลอบล่าและการค้าเสือโคร่งและสัตว์ป่าชนิดอื่นที่ผิดกฎหมาย มีแผนการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งที่มีมาตรฐานระดับสากล ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและสัตว์ป่าที่สำคัญชนิดอื่นจากกองทุนและองค์กรอนุรักษ์ระดับโลก ที่สำคัญเป็นศูนย์กลางการวิจัยการสร้างระบบติดตามประเมินประชากรเสือโคร่ง และการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์และวิจัยเสือโคร่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกด้วย