“น้ำ” เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต ดังจะเห็นได้จากการทรงงานของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้ความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยมีพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529 ความตอนหนึ่งว่า “หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพราะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้”
นายจรินทร์ จักกะพาก อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นทางสายกลางในการดำรงชีวิตที่พระราชทานให้กับประชาชนมานานกว่า 40 ปี ที่ยึดหลักความพอประมาณ การมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน ทั้งในการปฏิบัติตน การอยู่ร่วมกันในครอบครัว การดำรงอยู่ของชุมชน การปฏิบัติงานและบริหารกิจการทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยในการประกอบอาชีพภาคเกษตรกรมีการนำมาประยุกต์ใช้ภายใต้แนวทางสร้างเกษตรผสมผสานเพื่อสร้างให้เกิดอาชีพที่มีรายได้ที่มั่นคงอย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกร และเพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสู่วิถีชีวิตของประชาชน การพัฒนาเกษตรกร ที่ยากจนให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจึงให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหลักในการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ภายใต้โครงการ “โครงการน้ำคือชีวิตสู่แปลงเกษตรผสมผสานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวเพิ่มเติมว่า ขั้นตอนการดำเนินการนั้น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการ โดยเลือกพื้นที่ ที่มีแหล่งน้ำที่ใช้ประโยชน์ได้ หรือสามารถพัฒนาแหล่งน้ำให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างพอเพียงและมีพื้นที่ทำกินสำหรับกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ 10 รายขึ้นไป โดยให้พิจารณาจากที่ดินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ดินเอกสารสิทธิ์ที่มีเจ้าของกรรมสิทธิ์ให้ความยินยอมให้ใช้ดำเนินโครงการ ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่ดินราชพัสดุ หรือที่ดินสาธารณประโยชน์ซึ่งได้รับการอนุญาตตามกฎหมาย เพื่อนำมาพัฒนาแหล่งน้ำ และ/หรือระบบการจัดการน้ำ พัฒนาปรับปรุงที่ดินและจัดทำแปลงเกษตรผสมผสาน ฝึกอบรมอาชีพเกษตรผสมผสานโดยเรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้านที่ประสบความสำเร็จ การรวมกลุ่มอาชีพและจัดทำแผนบัญชีครัวเรือนโดยใช้วิทยากรจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ ส่งเสริมความรู้การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การเลี้ยงสัตว์โดยใช้วิทยากรจากสำนักงานเกษตรอำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับการคัดเลือกผู้ที่จะได้รับการช่วยเหลือ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดประชุมประชาคมคัดเลือกโดยยึดหลักเกณฑ์ ดังนี้ เป็นผู้ยึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นคนยากจนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่มีที่ดินทำกินของตนเอง เป็นคนขยันขันแข็ง พึ่งตนเอง ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด อบายมุข หรือได้ลด ละ เลิก อบายมุขแล้ว เป็นผู้มีจิตใจสาธารณะ ช่วยเหลือเกื้อกูล เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม โดยเป้าหมายของโครงการคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพทั้ง 76 จังหวัด