เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษพญาไท เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ กองสารวัตรและกักกัน สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสมุทรสาคร กรมปศุสัตว์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปราบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) สถานีตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสาคร เข้าตรวจสอบการกักตุนซากสุกรในห้องเย็น ผลการตรวจสอบพบว่า ห้องเย็นแห่งหนึ่งมีเนื้อสุกรแช่แข็งจัดเก็บ แจ้งกรมการค้าภายใน จำนวน 929 ตัน แต่ไม่พบการออกเอกสารเคลื่อนย้ายเนื้อสุกรออกจากห้องเย็น ปลายทางนครปฐมและราชบุรี จำนวนกว่า 400 ตัน ซึ่งได้มีการเคลื่อนย้ายเนื้อสุกรไปแล้ว โดยเป็นเนื้อสุกรที่รับฝากมาจากบริษัทแห่งหนึ่งย่านราชบุรี นครปฐม ปทุมธานี กรุงเทพฯ และจากแหล่งอื่นๆ
นอกจากนี้ ยังพบว่าในส่วนที่ยังไม่ได้เเจ้งกับกรมการค้าภายใน ตรวจสอบพบอีกจำนวน 234 ตัน เป็นของบริษัท A แห่งหนึ่งจากราชบุรีที่นำมาฝากเมื่อเดือน กันยายน – พฤศจิกายน 2564 โดยบริษัทดังกล่าวยังไม่เคยเบิกสินค้าออกแต่อย่างใด สินค้าที่ฝากเก็บมีการระบุชื่อสินค้าเป็นสันนอกติดปีก ทำให้ห้องเย็นจัดเก็บเป็นสินค้าไก่ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นเนื้อสุกร ซึ่งไม่สามารถแสดงเอกสารเคลื่อนย้ายจำนวนประมาณ 71 ตันได้ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ดำเนินการอายัดสินค้าไว้ก่อนทั้งหมด 71 ตัน หากสามารถนำมาแสดงได้จะเข้ามาดำเนินการถอนอายัด โดยให้บริษัท A นำเอกสารมาแสดงและชี้แจงภายในวันที่ 22 มกราคม 2565
และในวันเดียวกันนี้ ได้เข้าตรวจสอบห้องเย็นอีกแห่งหนึ่ง พบเอกสารเคลื่อนย้ายซากสัตว์แต่ไม่พบเนื้อสัตว์เข้าฝากในห้องเย็นนั้น โดยจำนวนที่ระบุในเอกสาร 283 ตัน จึงได้สอบถามถึงสถานที่จัดเก็บเนื้อสัตว์ดังกล่าว จากนั้นจึงได้ตามสอบไปยังห้องเย็นอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นสถานที่จัดเก็บเพิ่มเติมของห้องเย็นที่พบเอกสารแต่ไม่มีสินค้าจัดเก็บ พบว่ามีการนำซากสุกรจากบริษัท B และบริษัท A ซึ่งเป็นบริษัทเดียวกับที่ตรวจพบจากห้องเย็นข้างต้น จำนวนกว่า 441 ตัน มาจัดเก็บไว้ที่ห้องเย็นนี้ โดยไม่พบเอกสารเคลื่อนย้าย และไม่ได้แจ้งการกักตุนสินค้าให้กรมการค้าภายในทราบ จากการตรวจสอบพบมีซากสุกร พบว่าเป็นของบริษัท A มาจัดเก็บที่ห้องเย็นนี้จำนวน 158 ตัน และบริษัท B ไปจัดเก็บจำนวน 283 ตัน ตรวจสอบไม่พบเอกสารการเคลื่อนย้ายไปห้องเย็นดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้อายัดซากสุกร จำนวน 441 ตันทั้งหมด และแจ้งให้บริษัท A และ B นำเอกสารการเคลื่อนย้ายและหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาแสดงภายในวันที่ 22 มกราคม 2565 นี้ หากไม่สามารถนำมาแสดงได้จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า หากประชาชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือพบเห็นการกระทำผิดด้านปศุสัตว์ โปรดติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับข้อมูล หรือแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย โดยแจ้งผ่านแอพพลิเคชัน DLD 4.0 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง