นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า ตามที่ สปป.ลาว มีนโยบายจะเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ บขส.มอบหมายให้ฝ่ายธุรกิจเดินรถ บขส. พิจารณารายละเอียดว่าจะสามารถเปิดเดินรถโดยสารระหว่างประเทศไทย-ลาว ได้หรือไม่ ขณะเดียวกันได้เตรียมความพร้อมกลับมาเปิดให้บริการเดินรถเส้นทางระหว่างประเทศไทย-ลาว จำนวน 13 เส้นทางอีกครั้ง
นายสัญลักข์กล่าวอีกว่า โดย บขส.อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมด้านพนักงานขับรถ และพนักงานต้อนรับที่ให้บริการ ซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบทั้ง 3 เข็ม และพนักงานต้องคัดกรองความเสี่ยงด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ทุก 7 วัน ส่วนรถโดยสารต้องตรวจเช็คสภาพรถ อุปกรณ์ส่วนควบให้มีความพร้อมก่อนเดินทางทุกครั้ง เนื่องจาก บขส.ได้ประกาศหยุดเดินรถเส้นทางระหว่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว ทำให้ต้องจอดรถไว้ไม่มีการใช้งานเป็นเวลานาน แต่ บขส.มีการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว รวมทั้งต้องคุมเข้มมาตรการป้องกันโควิด-19 ตามกฎระเบียบของประเทศไทย-ลาวด้วย เช่น ผู้โดยสารต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือต้องแสดงผลตรวจ ATK จำนวน 72 ชม. ก่อนเดินทาง หรือมีการกักตัวเหมือนกับการเดินทางด้วยเครื่องบิน
นายสัญลักข์กล่าวอีกว่า หากกลับมาเปิดให้บริการเดินรถระหว่างไทย-ลาว คาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวที่จะนั่งรถจากกรุงเทพฯไป สปป.ลาว เพื่อใช้บริการนั่งรถไฟลาว-จีน ที่เพิ่งเปิดให้บริการ เชื่อมต่อรถไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงตามแนวเส้นทางรถไฟลาว-จีนได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ในช่วงที่ยังไม่มีโควิด-19 พบว่าเส้นทางระหว่างไทย-ลาว ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เห็นได้จากก่อนปิดบริการช่วงโควิด-19 ในงบประมาณปี 2563-62 มีผู้โดยสารใช้บริการรวม 1.11 ล้านคน มีรายได้รวม 118 ล้านบาท แบ่งเป็นปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 2562-กันยายน 2563) มีผู้โดยสารใช้บริการ 3.6 แสนคน มีรายได้ 38 ล้านบาท ขณะที่ในปีงบประมาณ 2562 (ตุลาคม 2561-กันยายน 2562) มีผู้โดยสารใช้บริการ 7.5 แสนคน มีรายได้ 80 ล้านบาท ส่วนเส้นทางระหว่างไทย-กัมพูชา จำนวน 2 เส้นทาง ยังไม่มีแผนจะกลับมาเปิดให้บริการเร็วๆ นี้
ปัจจุบัน บขส.มีเส้นทางเดินรถระหว่างประเทศรวม 15 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทางประเทศไทย-สปป.ลาว 13 เส้นทาง ได้แก่ 1.เส้นทางหนองคาย-นครหลวงเวียงจันทน์ 2.อุดรธานี-นครหลวงเวียงจันทน์ 3.อุบลราชธานี-ปากเซ 4.มุกดาหาร-สะหวันนะเขต 5.ขอนแก่น-นครหลวงเวียงจันทน์ 6.กรุงเทพฯ-นครหลวงเวียงจันทน์ 7.นครพนม-ท่าแขก 8.เชียงใหม่-หลวงพระบาง 9.อุดรธานี-หนองคาย-วังเวียง 10.กรุงเทพฯ-ปากเซ 11.เชียงราย-เชียงของ-บ่อแก้ว 12.เลย-แขวงไชยะบุรี-หลวงพระบาง และ 13.น่าน-หลวงพระบาง และเส้นทางประเทศไทย-กัมพูชา 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ-ปอยเปต-เสียมราฐ และกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ-ปอยเปต-พนมเปญ