นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมการและจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี พ.ศ. 2565 ครั้งที่ 1/2565 ณ ห้องประชุม ชั้น 17 อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) ร่วมกับคณะผู้บริหารกระทรวงฯ และคณะกรรมการจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมี กรมป่าไม้ เป็นฝ่ายเลขานุการ
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปกท.ทส. ได้ยืนยันถึงความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี พ.ศ. 2565 โดยวันนี้ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งคณะทำงานฯ จำนวน 3 คณะด้วยกัน ได้แก่ คณะทำงานด้านสารัตถะ คณะทำงานด้านพิธีการและอำนวยการ และคณะทำงานด้านนิทรรศการและการประชาสัมพันธ์ ซึ่งแต่ละคณะมอบหมายให้รองปลัดกระทรวงฯ 3 ท่าน เป็นผู้กำกับดูแล โดยมอบหมายให้กรมป่าไม้เสนอคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานฯ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และดำเนินการจัดประชุมคณะทำงานแต่ละคณะในทันที เพื่อนำแนวทางการดำเนินงานของแต่ละคณะเข้าที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ พิจารณา อีกครั้ง ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ทั้งนี้ มีกำหนดจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 ณ เมืองหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากเป็นเมืองที่มีความพร้อมในการรองรับผู้นำและผู้เข้าร่วมประชุมจากเขตเศรษฐกิจเอเปค และยังเป็นพื้นที่แซนด์บ็อกซ์(Sandbox) ในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวโดยไม่กักตัวอีกด้วย โดยวางเป้าหมายรูปแบบการจัดประชุมเป็นแบบ physical ให้มากที่สุด ทั้งนี้ จะพิจารณาความเหมาะสมตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 อีกครั้ง
สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 (The Fifth APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry: MMRF5) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี พ.ศ. 2565 คือ โอกาสที่ประเทศไทยจะได้แสดงบทบาทในการเป็นผู้นำภาคการป่าไม้ของภูมิภาค ในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้เพื่อเป็นฐานการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม เสริมสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ตลอดจนการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ผ่านการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน