นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (นายทศพล ทังสุบุตร) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานให้ทราบว่า ตลอดปี 2564 คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 570 ราย เงินลงทุนรวม 82,501 ล้านบาท เกิดการจ้างงานคนไทย 5,450 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยสูงสุด 10 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับที่ 1 ญี่ปุ่น 163 ราย (ร้อยละ 28.6) เงินลงทุน 23,260 ล้านบาท อันดับที่ 2 สหรัฐอเมริกา 88 ราย (ร้อยละ 15.4) เงินลงทุน 5,948 ล้านบาท อันดับที่ 3 สิงคโปร์ 86 ราย (ร้อยละ 15.1) เงินลงทุน 10,530 ล้านบาท อันดับที่ 4 ฮ่องกง 41 ราย (ร้อยละ 7.2) เงินลงทุน 19,555 ล้านบาท อันดับที่ 5 จีน 29 ราย (ร้อยละ 5.1) เงินลงทุน 3,748 ล้านบาท อันดับที่ 6 เนเธอร์แลนด์ 18 ราย (ร้อยละ 3.2) เงินลงทุน 3,063 ล้านบาท อันดับที่ 7 เยอรมนี 16 ราย (ร้อยละ 2.8) เงินลงทุน 695 ล้านบาท อันดับที่ 8 ฝรั่งเศส 15 ราย (ร้อยละ 2.6) เงินลงทุน 1,127 ล้านบาท อันดับที่ 9 เกาหลี 14 ราย (ร้อยละ 2.5) เงินลงทุน 847 ล้านบาท อันดับที่ 10 สหราชอาณาจักร 9 ราย (ร้อยละ 1.5) เงินลงทุน 636 ล้านบาท และ ประเทศอื่น 91 ราย (ร้อยละ 16.0) เงินลงทุน 13,093 ล้านบาท ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) รวมถึงสนับสนุนการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต เช่น
* บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ทดสอบระบบ รวมถึง การบริหารจัดการโครงการ การฝึกอบรม การให้คำปรึกษาแนะนำที่เกี่ยวข้องกับระบบต่างๆ สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
* ธุรกิจบริการออกแบบทางวิศวกรรม วางระบบ และทดสอบเครื่องจักร/อุปกรณ์สำหรับโครงการศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้าอัจฉริยะระหว่างประเทศ
* ธุรกิจบริการออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล
* บริการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Center: IBC) ให้แก่บริษัทในเครือในต่างประเทศ * บริการควบคุมการผลิต การบรรจุภัณฑ์ การจัดเก็บ การตรวจสอบและการรับรองคุณภาพของเคมีภัณฑ์ และการบำบัดน้ำเสีย
* บริการให้ใช้สิทธิและให้ใช้ช่วงสิทธิในซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่นเกี่ยวกับกระบวนการทางการแพทย์
* บริการติดตั้ง ซ่อมแซม และบำรุงรักษาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
* บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และบริการให้ใช้ระบบบริหารจัดการในสถานีดังกล่าว เป็นต้น
คาดว่าตลอดปี 2565 จะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยผ่อนคลายให้มีการเปิดประเทศ และเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ผนวกกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ผ่อนคลายขึ้น โดยเฉพาะตลาดหลักทั้งสหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป ที่เศรษฐกิจน่าจะเริ่มฟื้นตัวหลังการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19
นอกจากนี้ การลงทุนจากต่างประเทศ น่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเห็นสัญญาณจากการลงทุนของบริษัทไทยและต่างชาติที่เริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา รวมถึงแนวโน้มการลงทุนในลักษณะที่เป็นการเข้ามาร่วมทุนกับบริษัทไทย ซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น และถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ เฉพาะเดือนธันวาคม 2564 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างชาติ 56 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง มีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 1,906 ล้านบาท ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 447 คน รวมถึง มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น *องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ และการบำรุงรักษาระบบในโครงการรถไฟฟ้า *องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบการเชื่อมต่อ EV Low priority system และการพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อการใช้งานร่วมกับเครื่องอัดประจุไฟฟ้า และ *องค์ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการออกแบบกระบวนการผลิตและความรู้ด้านการควบคุมระบบการกำจัดกากมลพิษอุตสาหกรรม เป็นต้น สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่
1. บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ทดสอบระบบ รวมถึงการบริหารจัดการโครงการ การฝึกอบรม การให้คำปรึกษาแนะนำที่เกี่ยวข้องกับระบบต่างๆ สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
2. บริการให้ใช้ระบบบริหารจัดการในสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า
3. บริการควบคุมการผลิต การบรรจุภัณฑ์ การจัดเก็บ การตรวจสอบและการรับรองคุณภาพของเคมีภัณฑ์ และการบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น