นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการ กกต. มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 1 ก.พ. 2565 ถึงผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร แจ้งประกาศจำนวนราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร์และการเตรียมความพร้อมในการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. หลังสำนักทะเบียนกลางกระทรวงมหาดไทย ส่งประกาศสำนักทะเบียนกลางเรื่องจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร์ ณ วันที่ 31 ธ.ค. 64 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2565 และสำนักงานฯ ได้คำนวณจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 2564 กำหนด เพื่อให้สำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ที่จำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัดจะพึงมีเกิน 1 คน เตรียมแบ่งเขตเลือกตั้งไว้เป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 3 รูปแบบ และเมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องมีผลใช้บังคับจะได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป
สำหรับหลักเกณฑ์การคำนวณจำนวน ส.ส. ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และการแบ่งเขตเลือกตั้ง เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 2564 มาตรา 86 โดยคิดจากจำนวนราษฎรทั้งประเทศที่สำนักทะเบียนกลางประกาศ รวม 66,171,439 คน ขณะที่กฎหมายกำหนดให้มีส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน กกต.จึงคำนวณจำนวนราษฎรเฉลี่ยต่อส.ส. 1 คน อยู่ที่ 165,428.5975 คน
สำหรับจังหวัดที่มี ส.ส.มากที่สุด ยังคงเป็นกรุงเทพมหานคร 33 คน ตามด้วยนครราชสีมา 16 คน และขอนแก่น เชียงใหม่ อุบลราชธานี จังหวัดละ 11 คน และหากคิดจำนวน ส.ส.เป็นรายภาค ตามประกาศ กกต.เรื่องบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัด 2560 ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และ 26 จังหวัด จะมี ส.ส. 139 คน, ภาคใต้ 14 จังหวัดจะมี ส.ส. 58 คน, ภาคเหนือ 16 จังหวัด จะมี ส.ส. 71 คน ส่วนภาคอีสาน 20 จังหวัด จะมี ส.ส. 132 คน