นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการและบริหารการจัดการผลไม้ (Fruit Board) กล่าวว่า ขณะนี้ผลผลิตทุเรียนกำลังจะออกสู่ตลาด จึงได้เน้นย้ำไปยังกรมส่งเสริมการเกษตรให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกซึ่งเป็นแหล่งผลิตทุเรียนสำคัญของประเทศ ให้ลงพื้นที่และประสานความร่วมมือในการดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดร่วมกับจังหวัดจันทบุรี ตราด และจังหวัดระยอง ทั้ง 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร
เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการส่งออก สร้างความเชื่อมั่นสู่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการควบคุมและป้องกันทุเรียนอ่อน ด้วยการกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนแต่ละชนิดพันธุ์ คือ พันธุ์กระดุม วันที่ 20 มีนาคม 2565 พันธุ์ชะนีและพวงมณี วันที่ 10 เมษายน 2565 พันธุ์หมอนทองและก้านยาว วันที่ 25 เมษายน 2565 และมาตรการเฝ้าระวัง COVID – 19 ในสวนเกษตรกร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก
ซึ่งในฤดูกาลผลไม้ปีนี้ ประเทศจีนในฐานะเป็นประเทศคู่ค้าของผลไม้ที่สำคัญของภาคตะวันออก กำหนดให้ต้องตรวจไม่พบเชื้อ COVID -19 ทั้งในคน ผลไม้ และองค์ประกอบอื่นในการขนส่ง ได้แก่ ภาชนะบรรจุภัณฑ์ รถขนส่ง เป็นต้น โดยจะมีการสุ่มตรวจทั้งโรงคัดบรรจุและสวนเกษตรกรเป็นประจำ ทำให้เกษตรกรต้องวางระบบป้องกันการระบาดของ COVID – 19 ในสวนของตนเองด้วย โดยในปีนี้ได้กำหนดเป้าหมายสำหรับการส่งออกผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2565 คือ “การส่งออกผลไม้ต้อง Zero COVID” เท่านั้น เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกฝ่ายได้ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านกรมส่งเสริมการเกษตรได้เตรียมที่จะจัดงานประชาสัมพันธ์สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าในช่วงเดือนมีนาคม 2565 โดยจะเน้นสร้างการรับรู้เกี่ยวกับมาตรฐานการควบคุมคุณภาพทุเรียน
ทั้งในเรื่องการปฏิบัติการควบคุมการเก็บเกี่ยวทุเรียนให้เป็นไปตามมาตรฐานทุเรียนไทย และระบบวิธีการจัดการควบคุม COVID –19 ในระดับสวนเกษตรกร เพื่อเป็นการประกาศให้ทราบถึงระบบการจัดการทุเรียนประเทศไทยในฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออกที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพให้กับผู้บริโภค
ทั้งนี้ ทุเรียนเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สร้างรายได้เข้าประเทศในอันดับต้นๆ มีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตทุเรียนได้ราคาดี สูงกว่าต้นทุนการผลิต ส่งผลให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนอย่างรวดเร็ว เนื่องจากในแต่ละปีประเทศไทยสามารถส่งออกทุเรียนผลสดไปยังประเทศจีนได้ถึงร้อยละ 80 ประกอบกับกระแสการบริโภคภายในประเทศมีมากขึ้น ทำให้ตลาดการค้าทุเรียนขยายวงกว้าง
ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจำหน่ายทุเรียนในช่วงที่ประสบปัญหาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID– 19) เป็นการจำหน่ายทางระบบค้าขายออนไลน์เพิ่มมากขึ้น จึงต้องพัฒนาให้ผลผลิตได้คุณภาพมาตรฐานมากยิ่งขึ้น เพื่อรักษาและขยายตลาดทุเรียนซึ่งเป็นไม้ผลเศรษฐกิจของประเทศไทยไว้ให้ได้