นพ.โอภาสกล่าวว่า ขณะนี้โรคโควิด 19 มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ยังเป็นไปตามการคาดการณ์และสามารถควบคุมได้ ส่วนที่ผู้ติดเชื้อใกล้ 1 หมื่นรายขอว่าอย่ากังวลกับตัวเลขจนเกินไป ซึ่งการพิจารณาสถานการณ์สิ่งสำคัญคือ จำนวนผู้ติดเชื้ออาการหนัก ใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิต ซึ่งปัจจุบันลดลงมากจากช่วงที่ระบาดใหญ่ ขณะนี้ค่อนข้างคงตัว และระบบสาธารณสุขรองรับได้ ซึ่งต่างประเทศก็พิจารณาในแนวทางนี้เช่นกัน โดยอนาคตหากจะเป็นโรคประจำถิ่นและอยู่ร่วมกับโรคให้ได้ ก็จะพิจารณาจากรายงานผู้ป่วยที่มีอาการในโรงพยาบาลเหมือนโรคอื่นๆ ทั่วไป
นพ.โอภาสกล่าวว่า การติดเชื้อระยะนี้ส่วนใหญ่เป็นคลัสเตอร์เล็กๆ กระจายทั่วทุกจังหวัด เกิดจากงานเลี้ยงสังสรรค์ งานบุญ งานแต่งงาน งานศพ งานบวช ทำให้กลับไปติดที่บ้าน ซึ่งโอมิครอนเบื้องต้นมีอัตราติดเชื้อในครอบครัว 40-50% จากเดิมสายพันธุ์เดลตาที่มีอัตราการติดเชื้อในครอบครัว 10-20% จะเห็นว่าติดเชื้อค่อนข้างง่าย ไม่รุนแรงไปกว่าเดลตา ส่วนใหญ่อาการน้อย โดยเฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว ซึ่งขณะนี้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไปได้แล้ว 15 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เชื่อว่าจะทำให้ระบบสาธารณสุขดูแลผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตได้ ขอให้กลุ่มเสี่ยงอายุ 60 ปีขึ้นไป 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามกำหนด อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นใกล้ระดับหลักหมื่นรายต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ให้เพิ่มมากไปกว่านี้
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ไม่ใช่เพียงแค่โรคโควิด 19 เท่านั้น แต่ยังมีโรคและภัยสุขภาพอื่นๆ ที่ต้องระวังด้วย โดยสถานการณ์ในปี 2564 พบว่า โรคไข้มาลาเรีย โรคเท้าช้าง และโรคเรื้อน มีการป่วยลดลงมาก และไม่มีผู้เสียชีวิตเลย เป็นกลุ่มที่จะกำจัดโรคให้หมดไปจากประเทศไทย ส่วนโรคไข้เลือดและวัณโรค ถือว่าอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ สำหรับโรคโควิด 19 พบผู้ติดเชื้อ 2,216,551 ราย เสียชีวิต 21,637 ราย สถานการณ์ถือว่ามีการระบาดที่รุนแรง ขณะที่โรคไข้หวัดใหญ่ อุบัติเหตุจราจร และเด็กจมน้ำ มีอุบัติการณ์ลดลง สำหรับการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพในปี 2565 มี 5 เรื่องที่ต้องแจ้งเตือน ได้แก่ 1.โรคโควิด 19 หากไม่มีการกลายพันธุ์ที่มีนัยสำคัญ คาดว่าครึ่งปีหลัง จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลง เนื่องจากคนไทยฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามเป้าหมาย มีการฉีดเพิ่มเติมในเด็ก 2.ไข้หวัดใหญ่ คาดว่าผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า คือ 22,817 ราย โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนและปลายฝนต้นหนาว เนื่องจากช่วงต้นปี 2565 การใส่หน้ากากอนามัยของคนไทยยังดี แต่ช่วงปลายปีหากสถานการณ์ดีขึ้น การใส่หน้ากากอนามัยลดลง อาจมีการระบาดของโรคเพิ่มขึ้นได้ 3.ไข้เลือดออก คาดว่าจะมีการระบาดเพิ่มขึ้นมีผู้ป่วยถึง 85,000 ราย เนื่องจากปกติไข้เลือดออกจะระบาดปีเว้นปี หรือปีเว้น 2 ปี ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อน้อย ภูมิคุ้มกันจึงมีน้อยและมีกิจกรรมทางสังคมเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยจะสูงสุดช่วงมิถุนายน-สิงหาคม 2565 จึงต้องเริ่มรณรงค์โดยเฉพาะการเป็นไข้ต้องคิดถึงโรคไข้เลือดออกด้วย ไม่ควรซื้อยาแก้ปวดแอสไรินและกลุ่มเอ็นเสดรับประทาน เรพาะจะทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารจนเสียชีวิตได้ ซึ่งล่าสุดพบรายงานการเสียชีวิตรายแรกของปีแล้ว 4.อุบัติเหตุทางถนน อาจสูง 17,000 - 20,000 ราย มีสัญญาณเพิ่มขึ้น จึงต้องรณรงค์บังคับใช้กฎหมาย ร่วมมือร่วมใจทำตามวินัยจราจร จะช่วยลดการเสียชีวิตได้ และ 5.เด็กจมน้ำ เนื่องจากโรงเรียนมีการเปิดเรียนแบบออนไซต์ มีกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น คาดว่ามีนาคม-เมษายนจะมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากขึ้น จึงต้องแจ้งตือนพ่อแม่ให้ระวังมากขึ้น
ด้าน นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยรายงานหายป่วย 7,827 ราย ติดเชื้อรายใหม่ 9,909 ราย แม้จะสูงขึ้นแต่ยังอยู่ในความคาดหมายและควบคุมได้ พบผู้เสียชีวิต 22 ราย จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ 516 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 105 ราย ถือว่าค่อนข้างคงตัว ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 จากการเก็บข้อมูลผู้ติดเชื้อ 9,267 ราย พบว่าเป็นไทย 96% ช่วงอายุที่ป่วยสูงสุดคือ 20-29 ปี ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี พบ 10.3% ปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อยังเป็นการไปร่วมงานปาร์ตี้ สังสรรค์ รับประทานอาหารร่วมกันซึ่งต้องเ0ปิดหน้ากากอนามัย โดยพบว่าเป้นการติดจากการไปสถานที่เสี่ยงที่เป็นคลัสเตอร์ 48% เป็นกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง 47%
"เราสามารถรักษาสถานการณ์การระบาดให้อยู่ในระดับเส้นสีเขียวหรือการคาดการณ์ที่ดีที่สุดได้ แม้ช่วงนี้จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นก็ยังอยู่ในเส้นที่คาดกาณ์ไว้และยังมีมาตรการรองรับ แต่ยังต้องขอความร่วมมือช่วยกันรักษามาตรการ VUCA คือ ฉีดวัคซีน ป้องกันตนเองตลอดเวลา COVID Free Setting และตรวจ ATK" นพ.เฉวตสรร กล่าว