ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
ตำรวจไซเบอร์เตือนแก้งค์หลอกโรมานซ์สแกม
06 ก.พ. 2565

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กประชาสัมพันธ์เตือนภัยเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในรูปแบบวิธีหลอกรักออนไลน์ หรือ โรมานซ์สแกม (Romance Scam) โดยทั่วไปจะมีรูปแบบ 4 ขั้นตอนคือ หลอก รัก ลวง และหลบหนี

1.หลอกลวงว่าเป็นนักธุรกิจ ,มีฐานะ ,แอบอ้างเป็นบุคคลอื่น ให้มีความน่าเชื่อถือ โดยคนร้ายมักจะใช้รูปภาพของบุคคลอื่นที่ดูดี หล่อ สวย น่าเชื่อถือ มักใช้ภาพที่มีการแต่งกายดูดี ภูมิฐาน หรือภาพคนในเครื่องแบบ เช่น ทหาร แพทย์ นักธุรกิจ วิศวกร มีสถานะในโลกออนไลน์เป็นคนโสด หรืออาจเคยแต่งงานมาแล้วแต่ภรรยาเสียชีวิตหรือหย่าร้าง โดยจะแอบอ้างว่าเป็นบุคคลในรูปและใช้ข้อมูลจริงของบุคคลในรูป หรืออาจจะสร้างตัวตนใหม่ เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือทำให้เหยื่อเชื่อใจจากภาพลักษณ์ที่เห็น

คนร้ายส่วนใหญ่คนร้ายจะแฝงตัวอยู่ในสังคมออนไลน์ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันหาคู่ต่าง ๆ และอาจติดต่อพูดคุยกับเหยื่อได้ทุกช่องทาง เช่นทางอีเมล เฟซบุ๊ก ไลน์ เมสเซนเจอร์ ฯลฯ

 

2.คนร้ายจะหว่านล้อมเหยื่อด้วยคำหวานเพื่อตีสนิท ทำให้เหยื่อเชื่อใจและให้ความหวังเหยื่อว่า จะแต่งงานใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันตลอดไป คนร้ายจะใช้ความรักความเชื่อใจของเหยื่อในการแสวงหาประโยชน์

บก.ปอท. ระบุว่า คนที่อาจตกเป็นเหยื่อของโรมานซ์สแกม มักจะเป็นคนที่มีสถานะโสด หย่าร้าง เป็นหม้าย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่น่าจะเหงาและต้องการหาเพื่อน หรืออาจเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง มีเวลาว่าง ขาดการดูแลใกล้ชิดจากบุตรหลาน หรืออาจจะเป็นสาวใหญ่ที่แสวงหารักแท้ หรืออาจจะเป็นใครก็ได้ ซึ่งผู้ที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีเกินไป เชื่อคนง่าย และเปิดโอกาสให้คนที่ไม่รู้จักเข้ามาพูดคุยสร้างสัมพันธ์ได้ง่าย รวมถึงมีพฤติกรรมเสี่ยงอย่างอื่นด้วย เช่น ใส่ข้อมูล ประวัติส่วนตัว ภาพถ่ายของตนเอง อัปเดตเรื่องราวในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ไว้บนเฟซบุ๊ก หรือในเว็บไซต์หาคู่ต่าง ๆ

ข้อมูลจากแอ็กชัน ฟรอด (Action Fraud) ซึ่งเป็นศูนย์รับแจ้งความของตำรวจอังกฤษ ระบุว่า มีการสูญเงินจากกลโกงที่มิจฉาชีพแสร้งทำเป็นรักเหยื่อ ในปี 2018 จำนวน 50 ล้านปอนด์ หรือราว 2 พันล้านบาท

ส่วนในประเทศไทย ไทยรัฐออนไลน์รายงานเมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้วว่า ข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินชี้ชัดว่า ระหว่างเดือน เม.ย.2561-พ.ค.2562 มีเหยื่อจากกรณี "หลอกให้รัก" 332 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 193 ล้านบาท

เหยื่อมักตั้งสถานะที่เป็นสาธารณะในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเมื่อคนร้ายเห็นและเลือกเหยื่อได้แล้ว ก็จะเข้ามาพูดคุยตีสนิท โดยการเล่าเรื่องราวที่แต่งขึ้นของตนเอง เช่น เป็นข้าราชการเกษียณ นักธุรกิจ หรือ มหาเศรษฐี มีสถานะโสด หรือสมรสแล้วแต่สามีหรือภรรยาเสียชีวิต และหลอกถามข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ เช่น อายุ อาชีพ เพื่อประเมินและสังเกตจุดอ่อนของเหยื่อ หลังจากนั้นก็จะทำให้เหยื่อเชื่อใจ ทำให้รัก หลังจากนั้นก็หลอกลวงเอาผลประโยชน์จากเหยื่อนั่นเอง

 

3.เมื่อเหยื่อเริ่มตายใจหรือมีความสนิทสนมแล้ว คนร้ายจะออกกลอุบายในการหลอกลวงเอาทรัพย์สิน เงิน หรือผลประโยชน์ต่าง ๆ จากเหยื่อ เช่น หลอกว่าเป็นนักธุรกิจหรือมหาเศรษฐีที่จะมาลงทุนในประเทศไทยและต้องการหาคนมาร่วมลงทุนด้วย จึงหลอกให้เหยื่อโอนเงินไปช่วยหมุนในธุรกิจก่อน

บก.ปอท. ระบุว่า เหยื่อมักจะหลงเชื่อเพราะคนร้ายหลอกว่าจะให้เงินก้อนใหญ่ ผลตอบแทนสูงหลายสิบเท่า หากรีบลงทุนเสียแต่ตอนนี้ หรือคนร้ายหลอกว่าส่งสิ่งของมีราคาสูงมากมาให้ แต่ของติดอยู่ที่ด่านตรวจ จึงขอให้เหยื่อช่วยโอนเงินไปจ่ายก่อนเพื่อจะได้นำของออกมาให้เหยื่อได้ เหยื่อมักจะหลงเชื่อเพราะหวังว่าจะได้ในสิ่งของราคาสูงนั้น หรืออาจจะหลอกว่ามีพ่อแม่พี่น้องหรือแม้แต่ตัวเองกำลังป่วย ขอให้เหยื่อส่งเงินไปช่วยรักษา เมื่อหายแล้วจะได้เดินทางมาหา หรือหลอกว่ากำลังเดือดร้อนต้องการใช้เงินจำนวนมาก ๆ เช่น ชำระหนี้ หรือไถ่ถอนที่ดินหรือบ้าน เหยื่อหลงเชื่อเพราะรัก สงสาร และหวังที่จะได้ใช้ชีวิตร่วมกันจึงยอมช่วยเหลือ

บก.ปอท. ระบุว่า การหลอกทุกรูปแบบที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จะมาพร้อมคำสัญญาว่า จะคืนเงินให้ตามจำนวนหรือมากกว่าหลายเท่า รวมทั้งสัญญาว่าจะแต่งงานมีอนาคตร่วมกัน

4.หลบหนีเมื่อเหยื่อเริ่มรู้ตัวหรือสงสัยว่า อาจจะถูกหลอก คนร้ายก็หลบหนีไปไม่สามารถติดต่อได้แล้ว โดยคนร้ายจะปิดบัญชีออนไลน์ต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อหลอกลวงโดยการใช้ประวัติและรูปภาพปลอม ทำให้ดำเนินการติดตามตัวได้ยาก หรือถ้าติดต่อได้ก็อาจเป็นคนที่ถูกนำรูปภาพมาใช้ ไม่ใช่คนร้ายตัวจริง

เรื่องราวการหลอกลวงรูปแบบนี้ได้รับการถ่ายทอดในสารคดีเรื่อง "18 มงกุฎทินเดอร์" (Tinder Swindler) ซึ่งเพิ่งออกฉายทางเน็ตฟลิกซ์และกำลังได้รับความนิยมอย่างมาในสหราชอาณาจักร สารคดีนี้เล่าเรื่องราวของสตรีผู้ตกเป็นเหยื่อ 3 คน ที่ออกมาเปิดโปงชายชาวอิสราเอลที่มาหลอกลวงพวกเธอ

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...