นายธัชชญาน์พล อภิมนต์เตชบุตร รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง แจ้งว่า คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Commission : NDRC) ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จีน (Ministry of Commerce People’s Republic Of China : MOFCOM) ได้เผยแพร่ประกาศมาตรการการบริหารจัดการพิเศษเกี่ยวกับข้อจำกัดและข้อห้ามการลงทุนจากต่างประเทศในจีน ฉบับปี 2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ทั้งนี้ เพื่อขยายการลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ อุปกรณ์วิทยุและโทรทัศน์ การลงทุนในสาขาที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ และการดึงดูดเงินลงทุนและเทคโนโลยีต่างชาติมาสู่จีนมากขึ้น โดยกำหนดข้อจำกัดและข้อห้ามการลงทุนจากต่างประเทศเป็น 2 ส่วน คือ (1) ข้อกำจัดและข้อห้ามทั่วประเทศจีน (Nationwide Negative List) เหลือ 31 รายการ ซึ่งปรับลดลงจาก 33 รายการในปี 2563 และ (2) ข้อกำจัดและข้อห้ามในเขตการค้าเสรี (Free Trade Zones Negative List) เหลือ 27 รายการ ซึ่งปรับลดลงจาก 30 รายการในปี 2563 โดยมีข้อปรับเปลี่ยนในอุตสาหกรรมที่สำคัญ ดังนี้
การส่งเสริมการลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมการผลิตให้เปิดกว้างมากขึ้น ทั้งในส่วนของการลงทุนทั่วประเทศจีนและการลงทุนใน Free Trade Zones กล่าวคือ (1) ด้านการผลิตรถยนต์ ได้ยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับอัตราส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และข้อจำกัดในการตั้งบริษัทร่วมทุน (Joint Ventures) ไม่เกิน 2 แห่งในจีนเพื่อผลิตรถยนต์ชนิดเดียวกันโดยผู้ลงทุนต่างชาติรายเดียวกัน และ (2) ด้านการผลิตอุปกรณ์วิทยุและโทรทัศน์ ได้ยกเลิกข้อจำกัดการลงทุนต่างชาติสำหรับการผลิตสิ่งอำนวยความสะดวกและชิ้นส่วนสำคัญที่ใช้ในการรับส่งสัญญาณภาคพื้นดินของโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และการลงทุนที่อยู่นอกเหนือรายการข้อจำกัดและข้อห้ามจะได้รับการจัดการตามหลักการของความสอดคล้องระหว่างการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ การยกเลิกข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้ในปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติสามารถเข้าไปลงทุนใน Free Trade Zones ในอุตสาหกรรมการผลิตได้โดยไม่มีข้อจำกัดและข้อห้าม
อย่างไรก็ดี สำหรับการลงทุนที่ยังคงอยู่ในข้อจำกัดและข้อห้าม (Negative List) ซึ่งจีนเห็นว่ามีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ ทางจีนได้เปิดช่องทางการระดมทุนโดยอนุญาตให้ผู้ลงทุนต่างประเทศเข้าถือหุ้นได้ แต่จะต้องไม่มีส่วนร่วมในการบริหารธุรกิจ และกรณีการขายหุ้นและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ จะต้องได้รับการตรวจสอบและอนุมัติจากหน่วยงานผู้มีอำนาจของรัฐ รวมถึงต้องมีอัตราส่วนการถือหุ้นให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้องในการบริหารการลงทุนในหลักทรัพย์ในประเทศสำหรับนักลงทุนต่างชาติ