กรมวิชาการเกษตร ถอยพันธุ์งาป้ายแดง “อุบลราชธานี 3” ให้ผลผลิตสูงกว่า 200 กิโลกรัม/ไร่ ถูกใจเกษตรกร ให้ปริมาณน้ำมันที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพสูงกว่า 46 เปอร์เซ็นต์ ชนะเลิศพันธุ์เดิมอุบลราชธานี 1 และ 2 แถมต้านทานแมลงศัตรูมวนฝิ่นสีเขียว สร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรปลูกได้ตลอดปี
นางสาวอิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า งาเป็นพืชไร่น้ำมันที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงอุดมไปด้วยน้ำมันที่มีคุณภาพดีและมีแร่ธาตุ วิตามินต่าง ๆ ที่มีประโยชน์เกือบทุกชนิด รวมทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยชะลอวัย จึงมีการนำงาไปใช้เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเกษตรกรจะปลูกเป็นพืชเสริมรายได้ก่อนหรือหลังพืชหลักทำให้พื้นที่ปลูกงาของเกษตรกรอยู่ในวงจำกัด และจากสภาพอากาศที่มีความแปรปรวนส่งผลให้ผลผลิตงาบางปีเกิดความเสียหาย ได้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ทำให้ผลผลิตงาไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศทั้งที่งาเป็นพืชที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้นเพียง 90 วัน และต้องการการดูแลรักษาน้อย โดยเฉพาะบางปีงาเป็นพืชที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรสูงกว่าพืชหลัก
คณะนักวิจัยของศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี กรมวิชาการเกษตร จึงได้วิจัยและปรับปรุงพันธุ์งาแดงเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงขึ้นกว่าพันธุ์เดิม ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณผลผลิตงาของประเทศเพิ่มมากขึ้นเพียงพอต่อความต้องการของตลาดและทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน โดยได้รวบรวมสายพันธุ์งาที่ได้จากธนาคารเชื้อพันธุ์พืชของสหรัฐอเมริกาและที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีน อิรัก ญี่ปุ่น อัฟกานิสถาน เมียนมาร์ รวมทั้งสายพันธุ์พื้นเมืองในประเทศจำนวน 77 สายพันธุ์ มาปลูกขยายพันธุ์และศึกษาลักษณะทางการเกษตรในแปลงรวบรวมและศึกษาพันธุ์งา และทำการคัดเลือกพันธุ์แบบสายพันธุ์บริสุทธิ์ คัดเลือกได้สายพันธุ์ที่มีลักษณะทางการเกษตรและให้ผลผลิตดี จำนวน 23 สายพันธุ์ จากนั้นนำเข้าประเมินพันธุ์ตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์งาแดงเพื่อให้ผลผลิตสูง ซึ่งประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ การรวบรวมและศึกษาพันธุ์ การคัดเลือกพันธุ์ และการประเมินพันธุ์โดยการเปรียบเทียบเบื้องต้น เปรียบเทียบมาตรฐาน เปรียบเทียบในท้องถิ่น และเปรียบเทียบในไร่เกษตรกรที่จังหวัดอุบลราชธานี นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์ ศึกษาข้อมูลจำเพาะของพันธุ์โดยประเมินความต้านทานโรคและความต้านทานต่อแมลงศัตรูที่สำคัญของงา จนได้งาแดงสายพันธุ์ RSMUB54-12 ที่มีเสถียรภาพในการให้ผลผลิตดีและมีลักษณะเด่นตามที่ต้องการคือให้ผลผลิตและปริมาณน้ำมันสูง จึงเสนอคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร พิจารณาเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตรในปี 2564 ใช้ชื่อพันธุ์ว่า “งาแดงพันธุ์อุบลราชธานี 3”
รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า งาแดงพันธุ์อุบลราชธานี 3 มีลักษณะเด่น ให้ผลผลิตเฉลี่ยในแหล่งปลูกสำคัญที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และนครสวรรค์ จำนวน 216 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งสูงกว่างาแดงพันธุ์อุบลราชธานี 1 ที่ให้ผลผลิต 192 กิโลกรัม/ไร่ และงาแดงพันธุ์อุบลราชธานี 2 ให้ผลผลิต 206 กิโลกรัม/ไร่ และยังให้ปริมาณน้ำมันเฉลี่ยสูง 46.4% รวมทั้งยังมีความต้านทานต่อการทำลายของศัตรูพืชมวนฝิ่นสีเขียว เหมาะสำหรับปลูกในแหล่งปลูกที่สำคัญ และสภาพการผลิตพืชไร่ทั่วไป โดยเกษตรกรสามารถปลูกสร้างรายได้เสริมได้ตลอดทั้งปี
“งาเป็นพืชไร่ที่เกษตรกรปลูกเป็นพืชเสริมรายได้ ทั้งงาแดง งาขาว งาดำ โดยเกษตรกรจะนิยมปลูกงาแดงมากที่สุดเนื่องจากปลูกง่าย และมีความทนทานต่อความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ คณะนักวิจัยศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี ซึ่งมีนายธำรง เชื้อกิตติศักดิ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ เป็นหัวหน้าทีมวิจัยและปรับปรุงพันธุ์งาแดงจนประสบผลสำเร็จ ได้งาแดงพันธุ์ใหม่ "อุบลราชธานี 3" ที่มีลักษณะโดดเด่นให้ผลผลิต และปริมาณน้ำมันสูงกว่าพันธุ์อุบลราชธานี 1 และอุบลราชธานี 2 เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่เกษตรกรนำไปปลูกเพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น” นางสาวอิงอร กล่าว