กฟผ. เดินหน้าโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำฯ เขื่อนอุบลรัตน์ หนุนเสริมเป้าหมาย Carbon Neutrality ของรัฐบาล หลังผลการดำเนินงานโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ชี้ชัดสร้างเสถียรภาพ ลดความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียนได้เป็นอย่างดี ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นรูปธรรมได้ถึง 47,000 ตันต่อปี
นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. เตรียมเดินหน้าโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ขนาดกำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าในรูปแบบไฮบริดจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำจากเขื่อน พร้อมติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน BESS (Battery Energy Storage System) เพื่อเสริมการผลิตไฟฟ้าให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ หลังจากการจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำโครงการแรกของ กฟผ. ที่เขื่อนสิรินธร หรือโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี แล้วเสร็จและผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย
สำหรับผลการดำเนินงานโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ซึ่งจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ไปแล้ว เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 พบว่าการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบไฮบริดสามารถสร้างเสถียรภาพและลดความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียนได้เป็นอย่างดี จากการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมพบว่า การติดตั้งทุ่นลอยน้ำในอ่างเก็บน้ำของโครงการฯ ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ใต้น้ำและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดยังเป็นส่วนหนึ่งในแผนดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ผ่านกลไกการสนับสนุนการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นรูปธรรม โดยสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 47,000 ตันต่อปี โดยผลที่ได้จากการศึกษา จะนำไปใช้ต่อยอดการพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดของ กฟผ. แห่งอื่นๆ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ต่อไป
ด้านความคืบหน้าโครงการฯ เขื่อนอุบลรัตน์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดขายเอกสารประกวดราคา ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถซื้อเอกสารประกวดราคาได้ ตั้งแต่วันนี้ – 15 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีกำหนดเปิดซองประกวดราคาในวันที่ 9 มีนาคม 2565