ดร.ณพลเดช มณีลังกา รองประธานอนุกรรมาธิการส่งเสริมอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีไทย (SME) สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงกรณีสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศ ไทย ขับไล่ นาย สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ออกจากตำแหน่ง โดยจัดกิจกรรมรวมทัพรถใช้น้ำมันแพงวิ่งทั่วกรุงเทพฯ เพื่อกดดันรัฐบาล เนื่องด้วยกรณีปัญหาราคาน้ำมันแพง ซึ่งตนเห็นว่าเป็นความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นคงไม่มีใครถึงขั้นหยุดงานและนำรถบรรทุก ออกมาวิ่งเพื่อเรียกร้องทั้งรัฐบาลลดราคาน้ำมัน การที่นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา จะไปต่อว่าประชาชนนั้นเป็นการไม่สมควร ทั้งนี้ตนเห็นด้วยกับ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมต.พลังงาน ที่แนะนำให้รัฐบาล ลดภาษีสรรพสามิตร ที่มียอดโดยประมาณเกือบ 6 บาท จากการที่น้ำมันแพงจะเป็นต้นของห่วงโซ่อุปทาน จะส่งผลถึงสินค้าอุปโภคบริโภค อันจะส่งผลถึงภาวะเศรษฐกิจไทย แม้เงินเฟ้อในเดือนมกราคมพุ่งขึ้นถึง 3.23% แล้ว อัตราว่างงานในไตรมาส 3 ปีที่แล้วสูงถึง 2.25% ของแรงงานทั้งหมด
จากที่ตนได้รับข้อมูลจาก ผู้ประกอบการค้า SME ด้านการส่งออกน้ำมันไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยผู้ประกอบการ ได้ไลน์แจ้งมายังตนว่า ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่หน้าโรงกลั่น สำหรับราคาส่งออกไปยังต่างประเทศที่ใช้ชื่อย่อที่เข้าใจกันว่าบริษัท “OR” โดยเขาส่งไลน์ส่วนตัวโดยระบุว่า
FOB 07-09 Feb 2022
เบนซินธรรมดาไร้สารตะกั่ว (ULR) 23.80 บาท/ลิตร
เบนซินพิเศษ ไร้สารตะกั่ว 1 (ULG) 22.60 บาท/ลิตร
น้ำมันดีเซล (HSD) 22.70 บาท/ลิตร
นํ้ามันอากาศยาน (JET) 22.80 บาท/ลิตร
เมื่อเปรียบเทียบน้ำมันในประเทศ เราได้ราคาดังนี้
เบนซิน95 42.46 บาท/ลิตร
ดีเซล 29.94 บาท/ลิตร
ดีเซล B7 29.94 บาท/ลิตร
ดีเซล B20 29.94 บาท/ลิตร
ดร.ณพลเดช กล่าวต่อไปว่าเมื่อเทียบราคา น้ำมันดีเซล (HSD) ส่งออก จะต่างจากน้ำมันดีเซลในประเทศถึง 29.94-22.70 = 7.24 บาท หากเทียบราคาน้ำมันต่างประเทศ เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2565 บรูไน อยู่ที่ 7.65 บาทต่อลิตร มาเลเซีย อยู่ที่ 17.08 บาทต่อลิตร พม่า อยู่ที่ 28.35 บาทต่อลิตร และอินโดนีเซีย อยู่ที่ 27.87 บาทต่อลิตร ซึ่งการบริหารจัดการแบบนี้จะเห็นว่า แม้พม่า นำเข้าน้ำมันเช่นกัน แต่เขาก็สามารถจัดการน้ำมันได้ถูกกว่า ตนเห็นว่าถ้าแบบนี้รัฐบาลไทยควรเอาโมเดลจากประเทศพม่า เพื่อนำมาศึกษาว่า ประเทศพม่าเขาทำอย่างไรจึงทำให้น้ำมันถูก