ธปท.เตรียมปรับกรอบประมาณการอัตราเงินเฟ้อ-จีดีพีปี 2565 หลังตัวเลขงินเฟ้อเดือน ม.ค.สูง 3.2% ตามราคาพลังงาน-อาหารสดพุ่ง ยันทั้งปียังอยู่ในกรอบ 1-3% ถือเป็นระดับเหมาะสม จับตา 3 ความเสี่ยงหนุนเงินเฟ้อพุ่ง “ราคาพลังงานและอาหารสด-การส่งผ่านต้นทุน-ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์”
นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อถือเป็นประเด็นที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้ความสำคัญ โดยปัจจุบันมีความเสี่ยงขาสูงขึ้น โดยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อล่าสุด ณ เดือนมกราคม 2565 มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 3.2% ซึ่งขับเคลื่อนหลักมาจากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นถึง 27% ส่วนอาหารสดมีการปรับเล็กน้อยอยู่ที่ 0.7%
ทั้งนี้ หากดูพลวัตรของอัตราเงินเฟ้อในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจะถูกขับเคลื่อนจากราคาพลังงาน โดยจะเห็นว่าในปี 2563 ราคาน้ำมันดิบดูไบลดลงอยู่ที่ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ในปี 2564 ราคาน้ำมับดิบดูไบเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
และหากดูความเสี่ยงระยะข้างหน้าของเงินเฟ้อ จะมาจาก 3 ส่วนด้วยกันที่ต้องติดตาม คือ 1.ราคาพลังงาน และอาหารสด 2.การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น กรณีราคาพลังงานปรับสูงขึ้นจนไปสู่ค่าขนส่ง หรือราคาเนื้อสุกรและโคส่งผ่านไปยังราคาข้าวกล่อง อาจจะทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นได้ และ 3.ปัญหา Supply Disruption การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ตู้คอนแทนเนอร์ ซึ่งเป็นปัจจัยความเสี่ยงที่ต้องจับตาใกล้ชิด
อย่างไรก็ดี ภาพประมาณการในระยะข้างหน้า โดยตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ปี 2565 ที่มีการเผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ประเมินอัตราเงินเฟ้อในปี 2565 อยู่ที่ 1.7% และในปี 2566 อยู่ที่ 1.4% ซึ่งภายหลังจากการเผยแพร่พบว่าราคาพลังงานและเนื้อหมูปรับตัวสูงขึ้น และแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ และทยอยลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี
ดังนั้น ธปท.จะมีการทบทวนตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ 1.7% ใหม่ในรอบการประชุมเดือนมีนาคมนี้ หลังจากสัญญาณเงินเฟ้อเดือนมกราคมอยู่ที่ 3.2% แต่ทั้งปียังอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% เนื่องจากมองว่ากรอบเป้าหมาย 1-3% เป็นระดับที่เหมาะสม ไม่ต่ำหรือสูงจนเกินไป และเป็นอัตราที่ภาคธุรกิจสามารถวางแผนธุรกิจได้ นอกจากนี้ ธปท.จะมีการทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2565 โดยจะมีการปรับอัตราการเติบโตตัวเลขภาคการส่งออกเป็นสำคัญ
“ธปท.จะติดตามภาวะและแนวโน้มเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด ซึ่งจากการประเมินการเพิ่มขึ้นของราคายังไม่เป็นวงกว้าง แม้จะเร่งขึ้นในช่วงแรก แต่ครึ่งหลังมีแนวโน้มลดลง ทำให้ตัวเลขทั้งปียังอยู่ในกรอบ 1-3% และจะเห็นว่าภาครัฐยังคงดูแลเรื่องของราคาน้ำมันในช่วงไตรมาส 1 และคาดว่าไตรมาสที่ 2 ราคาน้ำมันน่าจะลดลง ทำให้กองทุนน้ำมันดูแลจะลดลงด้วย แต่สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอน เชื่อว่ากองทุนน้ำมันยังมี Capacity ด้านเงินทุน 3 หมื่นล้านบาท”