ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “ส่งรักทั่วไทย อุ่นใจเมื่อมีประกันภัย พ.ร.บ.” ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งของ “โครงการ พ.ร.บ. รุกทั่วไทย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจ แก่ประชาชน ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. รวมทั้งความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย และสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย โดยมีผู้บริหาร ของสำนักงาน คปภ. ส่วนกลาง สำนักงาน คปภ. ภาค 1 (เชียงใหม่) สำนักงาน คปภ. จังหวัดลำปาง ผู้แทนส่วนราชการ อาสาสมัครประกันภัย และประชาชนในพื้นที่จังหวัดลำปาง เข้าร่วมงาน พร้อมทั้ง ได้รับเกียรติจาก นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เข้าร่วมงานและกล่าวต้อนรับ ผ่านทางระบบออนไลน์ (ZOOM Webinar) เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
สำหรับกิจกรรมในงานดังกล่าว มีการปล่อยขบวนคาราวานรถจักรยานยนต์กว่า 100 คัน เพื่อรณรงค์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในจังหวัดลำปาง โดยใช้เส้นทางจากมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ไปยังแหล่งชุมชนในจังหวัดลำปาง ภายใต้มาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ของจังหวัดอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับการประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ โดยจัดเวทีเสวนาให้ความรู้ในหัวข้อ “สิทธิประโยชน์ของประกันภัย พ.ร.บ.” จากผู้แทนของสำนักงาน คปภ. โดยมีคุณดาว อภิสรา นุตยกุล เป็นผู้ดำเนินรายการ และการจัด Talk Show จากอาจารย์สมชาย หนองฮี บรรยายความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยภาคบังคับ หรือประกันภัย พ.ร.บ. ในหัวข้อ “ประกันภัย พ.ร.บ. มีไว้ ดีอย่างไร”
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวเปิดกิจกรรม ในตอนหนึ่งว่า จากสถิติที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ได้รับอุบัติเหตุจากรถเพิ่มสูงขึ้นในทุก ๆ ปี โดยในปี 2564 มีผู้ประสบภัยจากรถสูงถึง 895,130 ราย แบ่งออกเป็น ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 881,405 ราย ทุพพลภาพ จำนวน 163 ราย และเสียชีวิตสูงถึง 13,562 ราย หรือคิดเป็นผู้ประสบภัยจากรถและเสียชีวิตจำนวนถึง 37 คนต่อ 1 วัน โดยเป็นการเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์คิดเป็นอัตราร้อยละ 80 ของการเสียชีวิตทั้งหมด สำหรับวงเงินความคุ้มครองของประกันภัย พ.ร.บ. ปัจจุบันให้ความคุ้มครองสูงสุดถึง 500,000 บาท สำหรับผู้ประสบภัยจากรถที่ไม่ได้เป็นฝ่ายผิด โดยเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ. ขึ้นอยู่กับประเภทและขนาดของรถ ทั้งนี้ เจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถทุกคันมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องจัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. หากฝ่าฝืนไม่จัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท หรือหากเป็นผู้ที่ใช้รถที่ไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท ดังนั้น หากเป็นทั้งเจ้าของรถที่ไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. และได้นำรถคันนั้นออกไปใช้เองจะมีความผิดทั้ง 2 ข้อหา โดยมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า จากข้อมูลสถิติของกรมการขนส่งทางบก พบว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีจำนวนรถทุกประเภทที่จดทะเบียนสะสมทั่วประเทศกว่า 42.31 ล้านคัน โดยเป็นรถที่จัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. เพียง 29.02 ล้านคัน หรือประมาณร้อยละ 68.59 ของรถที่จดทะเบียนทั้งหมด และโดยเฉพาะรถจักรยานยนต์มีการจดทะเบียนสะสม จำนวน 21.68 ล้านคัน แต่มีรถที่จัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. จำนวน 12.80 ล้านคัน หรือประมาณร้อยละ 59.04 และจากสถิติการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 พบว่ามีการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถเป็นจำนวนสูงถึง 180 ล้านบาท จากตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ายังมีรถที่อยู่นอกระบบการประกันภัย พ.ร.บ. อีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีเจ้าของรถจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีประกันภัย พ.ร.บ. เพื่อนำไปเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัย หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นจากการใช้รถใช้ถนน
“กิจกรรม “ส่งรักทั่วไทย อุ่นใจเมื่อมีประกันภัย พ.ร.บ.” ภายใต้ “โครงการ พ.ร.บ. รุกทั่วไทย” ที่จังหวัดลำปางจัดงานขึ้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งตรงกับวันวาเลนไทน์ สำนักงาน คปภ. จึงขอส่งความรัก ความปรารถนาดีจากใจชาว คปภ. โดยมอบประกันภัย พ.ร.บ. จำนวน 10,000 ฉบับ ให้แก่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์ และท่านสามารถเข้าไปลงทะเบียนรับสิทธิ์ได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายตามเงื่อนไขที่กำหนด ที่ www.พรบรุกทั่วไทย.com จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย