เครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัดกว่า 1.6 แสนคน จาก 68 จังหวัด ส่งตัวแทนยื่นข้อเรียกร้องถึงนายกฯ ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการออกกฎหมายลำดับรองภายใต้พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมวอนหวังได้รับความเห็นใจช่วยดำเนินการ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ภายในสำนักงาน ก.พ. ตัวแทนเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัด (องค์กรภาคประชาชน) จาก 4 ภาค ประกอบด้วย นายวินัย ชิดเชี่ยว ประธานเครือข่ายภาคใต้, นายสีหา มงคลแก้ว จากเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, นายสฤษฎิ์ จิตนอก จากเครือข่ายภาคกลาง และนายสุมัย หมายมั่น จากเครือข่ายภาคเหนือ ได้ร่วมกันยื่นหนังสือเพื่อแสดงข้อเรียกร้องต่อการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ถึงพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมี นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับหนังสือ
ทั้งนี้ นายวินัย ชิดเชี่ยว ประธานเครือข่ายภาคใต้ กล่าวว่า เครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัด เป็นองค์กรภาคประชาชนที่ได้บัญญัติไว้ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 โดยมีการจดแจ้งเป็นเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัดตามระเบียบกรมป่าไม้ ว่าด้วยการจดแจ้งการเป็นเครือข่ายป่าชุมชน พ.ศ. 2562 เพื่อรองรับสถานะเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัด ให้มีความชัดเจนขึ้นในทางกฎหมาย ปัจจุบันจดแจ้งแล้ว รวมจำนวน 68 จังหวัด มีสมาชิกเครือข่ายป่าชุมชนมากกว่า 160,000 คน
“ในเบื้องต้นนี้ จึงต้องขอขอบคุณรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่ได้ผลักดันกฎหมายฉบับนี้จนสำเร็จ ทำให้ชุมชนได้มีตัวช่วยในการขับเคลื่อนการทำงานป่าชุมชน และทำให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม จากการหารือตัวแทนเครือข่ายป่าชุมชนทั่วประเทศ มีข้อห่วงใยหลายประการที่เห็นพ้องต้องกันและมีมติที่จะขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้โปรดช่วยเร่งรัดดำเนินการ ซึ่งประกอบด้วย 2 ข้อเรียกร้องสำคัญที่ได้นำมายื่นในวันนี้”
นายวินัย กล่าวต่อไปว่า ข้อเรียกร้องที่หนึ่ง ด้วยพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ส่งผลดีและมีคุณค่ากับการบริหารจัดการป่าชุมชนเป็นอย่างมาก ส่งเสริมให้ชาวบ้านได้ร่วมกับภาครัฐในการอนุรักษ์ บริหารจัดการ และใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ ชุมชนมีสิทธิและหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด เกิดประโยชน์กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก อย่างเช่น การเก็บหาของป่า เป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติ อีกทั้งการเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติเป็นการสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย จึงขอให้หน่วยงานภาครัฐได้เดินหน้าต่อไปในบทบาทหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด หากในอนาคตเมื่อใช้กฎหมายป่าชุมชนไประยะหนึ่งแล้วเกิดปัญหาหรือติดขัดในประเด็นใด จึงค่อยรวบรวมหยิบยกมาเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้วพิจารณาแก้ไขให้ตรงตามปัญหานั้น ๆ เพื่อให้การขับเคลื่อนงานป่าชุมชนของเครือข่ายป่าชุมชนทั่วประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และไม่กระทบต่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในภาพรวมของป่าชุมชนทั้งประเทศ
สำหรับข้อเรียกร้องที่สอง เครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัดขอให้รัฐบาลเร่งรัดการออกกฎหมายลำดับรองภายใต้พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หากชะลอการออกกฎหมายลำดับรองจะส่งผลให้ชาวบ้านที่ดูแลป่าชุมชนและจดทะเบียนไว้กับกรมป่าไม้ได้รับผลกระทบจำนวนกว่า 13,000 หมู่บ้าน และยังมีอีกหลายหมู่บ้านหลายพื้นที่ที่กำลังจะยื่นขอจัดตั้งเป็นป่าชุมชนใหม่เพิ่มเติมก็จะสะดุดหรือไม่สามารถทำได้ ทำให้ชุมชนเหล่านั้นขาดโอกาสในการที่จะได้ดูแลรักษาป่าไม้ของชุมชน รวมทั้งขาดโอกาสที่จะได้ใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน อีกทั้งหากยังไม่มีกฎหมายลำดับรองออกมาจะทำให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนได้อย่างเต็มที่ เต็มประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น และทำให้เศรษฐกิจภาพรวมของชุมชนเหล่านั้นดีขึ้น
“เครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัด หวังว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะได้พิจารณาดำเนินการตามที่ร้องขอ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ที่ได้ช่วยกันดูแลป่ากันมาตลอดเวลาที่ยาวนานอย่างทุ่มเท และทำให้ป่าไม้ของประเทศมีความอุดมสมบูรณ์เพื่อส่งต่อให้ลูกให้หลานและคนรุ่นหลังต่อไปในอนาคต” นายวินัย กล่าวทิ้งท้าย