ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
เพลี้ยไฟพริกสบช่องแล้งรุมระบาดให้หมั่นสำรวจสวน
16 ก.พ. 2565
 


     กรมวิชาการเกษตร เตือนภัยเกษตรกรช่วงแล้งให้ระวังเพลี้ยไฟพริก  อาการที่พบพริกร่วงไม่ติดผล  รูปทรงพริกบิดงอ  หากระบาดรุนแรงต้นพริกชะงักการเจริญเติบโตและแห้งตาย  แนะสุ่มสำรวจพริก 100 ยอด/ไร่ทุกสัปดาห์  หากพริกขาดน้ำจะเปิดช่องทางให้เพลี้ยไฟระบาดไว   พร้อมให้หมั่นสำรวจสวนเฝ้าระวังอีก 4 โรคสาเหตุจากไวรัสที่มีเพลี้ยไฟเป็นแมลงพาหะ

      นายศรุต  สุทธิอารมณ์  ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช  กรมวิชาการเกษตรเปิดเผยว่า  จากสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศในช่วงเวลานี้อากาศเย็นและมีหมอกในตอนเช้า แดดจัดในตอนกลางวัน จึงขอแจ้งเตือนให้เกษตรกรผู้ปลูกพริกเฝ้าระวังการระบาด เพลี้ยไฟพริก ซึ่งมักจะพบการระบาดในช่วงที่มีสภาพอากาศแห้งแล้ง โดยตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยง จากยอด ใบอ่อน ตาดอก และดอก ทำให้ใบ หรือยอดอ่อนหงิก ขอบใบหงิกหรือม้วนขึ้นด้านบน ถ้าเข้าทำลายระยะพริกออกดอก จะทำให้ดอกพริกร่วงไม่ติดผล การทำลายในระยะผล จะทำให้รูปทรงของผลบิดงอ ถ้าการระบาดรุนแรงพืชจะชะงักการเจริญเติบโต หรือแห้งตายในที่สุด

     แนวทางป้องกันแนะนำให้เกษตรกรสุ่มสำรวจพริก 100 ยอด/ไร่ทุกสัปดาห์ โดยเคาะลงบนแผ่นพลาสติกสีดำ และทำการป้องกันกำจัดเมื่อพบเพลี้ยไฟพริกเฉลี่ยมากกว่า 5 ตัวต่อยอด ในขั้นต้นควรเพิ่มความชื้นโดยการให้น้ำ อย่าปล่อยให้พืชขาดน้ำ เพราะจะทำให้พืชอ่อนแอ และเพลี้ยไฟพริกจะระบาดอย่างรวดเร็ว   หากพบการระบาดให้ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดตามคำแนะนำ ได้แก่  สไปนีโทแรม 12% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไซแอนทรานิลิโพรล 10% OD อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ฟีนาเพอร์ 10% SC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ สไปโรมีซิเฟน 24% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร   โดยขณะพ่นสารควรปรับหัวฉีดให้เป็นฝอยที่สุด และพ่นให้ทั่วตามส่วนต่างๆ ของพืชที่เพลี้ยไฟพริกอาศัยอยู่ กรณีระบาดรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสภาพอากาศแห้งแล้ง ควรใช้ปุ๋ยทางใบ เพื่อช่วยให้ต้นพริกฟื้นตัวจากอาการใบหงิกได้ดีและเร็วยิ่งขึ้น

     ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช  กล่าวว่า  นอกจากเพลี้ยไฟพริกแล้วเกษตรกรควรหมั่นสำรวจสวนและเฝ้าระวังโรคที่มีสาเหตุจากไวรัสที่มีเพลี้ยไฟเป็นแมลงพาหะ ได้แก่ โรคใบด่าง  โรคเส้นใบด่างประ   โรคใบหงิกเหลืองพริก  และโรคใบด่างจุดวงแหวนเนื้อเยื่อตาย  โดยแนวทางป้องกันโรคดังกล่าวแนะนำให้เกษตรกรใช้พันธุ์ต้านทานโรค   ไม่นำผลพริกจากต้นที่เป็นโรคมาเพาะขยายพันธุ์   ควรเพาะกล้าพริกในมุ้งกันแมลง และคัดเลือกกล้าพริกที่แข็งแรงและไม่เป็นโรคมาปลูก   หมั่นตรวจแปลงปลูกหากพบพริกที่แสดงอาการของโรคให้ถอนและนำไปทำลาย หรือฝังดินนอกแปลงทันที   รวมทั้งหมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงและรอบแปลงปลูก เพื่อลดแหล่งสะสมของเชื้อไวรัสและแมลงพาหะ เช่น สาบแร้งสาบกา กะเม็ง หญ้ายาง และกระทกรก   นอกจากนี้ ต้องไม่ปลูกพืชหมุนเวียนที่เป็นพืชอาศัยของเชื้อไวรัส เช่น มะเขือต่างๆ ยาสูบ แตงกวา ฟักทอง บวบเหลี่ยม และ มะระจีน  

 
หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...