ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เมื่อวันที่ 18 ก.พ.65 เรื่องการกำหนดขั้นตอน มาตรฐานการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน (UCEP) เพื่อให้เกิดการบริหารงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้สิทธิสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยจะมีผลบังคับใช้ 1 มี.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม คำจำกัดความคือโควิด-19 เป็นโรคติดต่อรุนแรง อยู่ภายใต้การคุ้มครองดูแลตามสิทธิหลักประสุขภาพของประชาชนแต่ละคน เราได้เริ่มประชาสัมพันธ์เรื่องนี้มาประมาณ 1 เดือนแล้ว ซึ่งย้ำว่า หากประชาชนที่มีอาการรุนแรง ทั้งจากโควิดและผู้ที่มีโรคร่วม ก็ยังใช้สิทธิฉุกเฉินได้ เรียกว่า UCEP Plus
“ไม่ได้ตัดสิทธิ ไม่ได้ยกเลิกยูเซ็ป ส่วนผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงก็จะมี UCEP Plus ซึ่งมีขั้นตอนในทางปฏิบัติ ไม่มีปัญหาเรื่องการให้บริการ แต่หากไม่มีอาการ อาการน้อยแต่อยากเข้า รพ. โดยเฉพาะเอกชน ก็จะเหมือนโรคอื่น ที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง เราต้องปรับตามสถานการณ์ให้เป็นธรรมทั้งกับประชาชน และภาครัฐในเรื่องงบประมาณ” นายอนุทินกล่าว
นายอนุทินกล่าวด้วยว่า สำหรับ UCEP Plus ไม่ได้ดูแลเฉพาะผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีโรคร่วม ผู้ที่มีอาการรุนแรงเพียงอย่างเดียว แต่หากผู้ติดเชื้อที่อยู่ในกลุ่มสีเขียว ที่อยู่ในระหว่างการรักษาที่บ้านและชุมชน (Home and Community Isolation) แล้วอาการเปลี่ยนแปลง มีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น ก็สามารถใช้สิทธินี้ได้ เพื่อเข้ารักษาในภายเร่งด่วนฉุกเฉิน ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่พบว่าติดเชื้อโควิด-19 ให้ลงทะเบียนผ่านระบบ 1330 ทั้งสายด่วนและไลน์ @nhso ซึ่งตนได้ประสานให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพิ่มคู่สายรองรับแล้ว ส่วนผู้ที่ไม่สะดวกอยู่ที่พักอาศัยแบบ HI เราก็มี CI รองรับได้อยู่ โดย กทม.ยืนยันกับ สธ.ว่า HI/CI มีความพร้อม นอกจากนั้น ยังมีเตียงสนามของภาคเอกชนด้วย