ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์ข้อความเรื่อง ความรุนแรงของ BA.2 มีประเด็นอะไรที่น่ากังวล โดยระบุข้อความว่า มีคนถามมาเกี่ยวกับความรุนแรงของ BA.2 ว่ามีประเด็นอะไรที่น่ากังวล
1. ความรุนแรงหมายถึง โอกาสที่เชื้อทำให้อาการหนักขึ้น เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเชื้อสายพันธุ์อื่นๆ ข้อมูลในปัจจุบันจากในหนูที่ทดลองให้ติดเชื้อ BA.2 พบว่าปอดอักเสบเกิดมากกว่า BA.1 แต่ไม่ได้หมายความว่าในคนจะอาการรุนแรงเหมือนในหนูเสมอไป เพราะในคนความรุนแรงยังขึ้นอยู่กับการได้วัคซีน, อายุ, โรคประจำตัว ในประเทศที่มีการระบาดของสายพันธุ์นี้ ยังไม่ได้รายงานเห็นความรุนแรงเพิ่มขึ้นในคน - อาจจะต้องรอข้อมูล
2. BA.2 ติดได้ง่ายกว่า BA.1 และ Delta ดังนั้นในบางประเทศจึงพบว่ามีสัดส่วนของเชื้อนี้สูงขึ้น ในห้องทดลองพบว่าไวรัสมีส่วนของ spike ที่จับกับเซลล์ได้ดีกว่า
3. การหลบภูมิจากวัคซีนก็พอๆ กันกับโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ แต่ยังเชื่อว่าการได้รับเข็มกระตุ้นยังป้องกันโรคที่รุนแรงและกันเสียชีวิตได้
4. ไวรัสมีการกลายพันธุ์ที่ลดการตอบสนองการรักษาด้วยยา monoclonal antibody ที่มีในเมืองไทยทุกตัว เดิม โอมิครอนธรรมดาใช้ sotrovimab ได้ ตอนนี้ถ้าเป็น BA.2 อาจจะไม่ได้ผลแล้ว
5. ยาอื่นๆ ที่อาจจะยังใช้ได้คือ remdesivir molnoupiravir nirmatrevir (Paxlovid) ตอนนี้ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ปรับแนวทางการรักษาให้ early remdesivir ในผู้ป่วยโควิดที่มีความเสี่ยงที่อาการรุนแรง โดยที่ไม่ต้องรอปอดอักเสบ ตามข้อมูลของ https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2116846 และจากข้อมูลยานี้น่าจะยังใช้ได้กับโอมิครอนทุกสายพันธุ์ย่อย
6. การตรวจสายพันธุ์ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตอนนี้ตรวจพบ BA.2 ในบางราย ที่มีประวัติเดินทางจากต่างประเทศ ทั้งหมดอาการไม่รุนแรง ส่วนรายที่อาการหนักเป็นเดลต้าและโอมิครอนในคนที่ไม่เคยได้วัคซีนมาก่อน
อย่างไรก็ตาม โดยสรุปคือติดได้ง่ายกว่าเดิม ข้อมูลตอนนี้ความรุนแรงไม่ได้มากกว่าโอมิครอนอื่นๆ แต่คนที่มีความเสี่ยงโรครุนแรงที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ อาจจะมีปัญหาในการรักษา เนื่องจากเชื้อลดการตอบสนองต่อยาบางตัวลง.