ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
ครป.ยื่นเสรีพิศุทธ์สอบ3ป.โยงค้ามนุษย์
24 ก.พ. 2565

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และนางสมศรี หาญอนันทสุข กรรมการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ในฐานะผู้แทน 5 องค์กรประชาชน ยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้สอบหาข้อเท็จจริงการทุจริตประพฤติมิชอบและหามาตรการป้องกันและปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ ตามรายละเอียดจดหมายแนบท้ายนี้

เรื่อง ขอให้สอบหาข้อเท็จจริงการทุจริตประพฤติมิชอบและหามาตรการป้องกันและปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์

เรียน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร

ตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 กรณีปัญหาขบวนการค้ามนุษย์ ที่ส่งผลต่อการจัดระดับประเทศไทยในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report: TIP Report) และทำให้ พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ในฐานะหัวหน้าชุดทำคดี ซึ่งทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีขบวนการค้ามนุษย์ต้องขอลี้ภัยไปต่างประเทศ ภายหลังได้ส่งสำนวนพยานหลักฐานต่ออัยการและมีการสั่งฟ้องในข้อหาค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติ และข้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง ต่อเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงหลายคนทั้งตำรวจและทหาร ต่อมาศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำเลยหลายสิบราย รวมถึง พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ซึ่งต่อมาเสียชีวิตในเรือนจำอย่างน่าสงสัยเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 ตามที่ปรากฏข้อเท็จจริงทางสาธารณะแล้วนั้น

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และองค์กรภาคประชาชนทั้ง 5 องค์กรตามรายนามแนบท้าย ได้ติดตามสถานการณ์และปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง จึงขอร้องมายังคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อได้ทำการสอบสวนเรื่องนี้ให้กระจ่างชัด โดยขอให้สอบหาข้อเท็จจริงการทุจริตประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในคดีการค้ามนุษย์ ต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือมีข้อมูลข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าว เพื่อหามาตรการป้องกันและปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ต่อไป เนื่องจากขบวนการค้ามนุษย์เป็นอาชญากรรมข้ามชาติ และกำลังเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของสังคมว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงและบุคคลในรัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือช่วยเหลือผู้ต้องหาในคดี หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริตประพฤติมิชอบเพื่อผลประโยชน์ต่างตอบแทนในขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่ รวมถึงการตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพื่อขยายผลจากคดีที่ค้างอยู่และคลี่คลายข้อสงสัยของสังคมจากพยานหลักฐานต่างๆ โดยขอให้ดำเนินการดังนี้

1. ขอให้เรียกสอบบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือมีข้อมูลข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น1) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ และเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดโดยตรงตามมาตรา 6 พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ แต่มีข้อครหาว่านายกรัฐมนตรีรู้เห็นเป็นใจและไฟเขียวในการสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจหัวหน้าชุดทำคดีไปยังจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยมิชอบ ทั้งยังเป็นการกลั่นแกล้งและทำให้คดีที่รับผิดชอบอยู่หยุดชะงักในการหาตัวการที่อยู่เบื้องหลัง ตามที่ถูกอภิปรายกล่าวหา และเพราะเหตุใดนายกรัฐมนตรีจึงไม่ยับยั้งและทบทวนคำสั่งดังกล่าวตามที่ได้มีการร้องขอ

 

2) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ในขณะนั้น ซึ่งได้มีคำสั่งย้าย พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ไปรักษาราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2558 โดย พล.อ.ประวิตร ต้องรับผิดชอบและตอบคำถามว่า ใช้อำนาจกลั่นแกล้งและสั่งย้ายทำไม เพราะชายแดนใต้เป็นพื้นที่พิเศษที่เต็มไปด้วยอำนาจมืดและขบวนการที่เกี่ยวข้องในเส้นทางการค้ามนุษย์ริมชายแดน ทำไมไม่ให้ทำคดีต่อต้านขบวนการค้ามนุษย์ต่อไป และมีการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นจริงหรือไม่

3) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2557 และควบคุมกลไกบริหารราชการแผ่นดินของกรมการปกครองทั้งหมด แต่ได้รับทราบปัญหาดังกล่าวหรือไม่ เพราะเหตุใดหลายพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดแคมป์กักกันบนเขาเพื่อการค้ามนุษย์อย่างเป็นระบบ เจ้าหน้าที่ในกรมการปกครองได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ และมีนโยบายด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไร เนื่องจากในช่วงนั้น หน่วยงานทางปกครองของไทยบางหน่วยใช้วิธีจัดงบประมาณ ดำเนินการในทางลับเพื่อขนชาวโรฮิงญาออกจากราชอาณาจักร เพื่อแก้ปัญหาการพักพิงในประเทศไทย เนื่องจากหากพวกเขาถูกจับกุมในฐานะลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายแล้วจะไม่สามารถส่งกลับประเทศต้นทางได้ เนื่องจากพม่าและบังกลาเทศไม่ยอมรับคนเหล่านี้เป็นพลเมือง จากนโยบายความมั่นคงและการใช้งบลับดังกล่าว กลายเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐบางคน จับมือกับนักการเมืองท้องถิ่นและฝ่ายปกครอง รวมทั้งตำรวจและทหาร ร่วมกันแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการวางโครงข่ายขบวนการนำพาชาวโรฮิงญาส่งผ่านไปประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแลกกับผลประโยชน์ ค่าไถ่และส่วย ดังคดีที่มีการจับกุม พล.ท.มนัส คงแป้น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก และเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงที่เกี่ยวข้อง และสั่งย้ายข้าราชการตำรวจหลายคนที่ได้รับผลประโยชน์

4) พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ซึ่งเพิ่งได้เป็น ผบ.ตร.คนใหม่ในขณะนั้น และได้มีการสั่งย้าย พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ โดยอ้างว่าได้รับคำแนะนำจากผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ซึ่งก็เป็นเพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนเตรียมทหาร ของ พล.ท.มนัส คงแป้น จำเลยคนสำคัญในคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ว่าให้ย้ายไปชายแดนใต้เนื่องจาก พล.ต.ต.ปวีณ เชี่ยวชาญกฎหมายความมั่นคง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ต้องรับผิดชอบและตอบคำถามในเรื่องนี้ว่า การสั่งย้ายทั้งๆ ที่มีคดีค้างอยู่และมีผลงานเป็นที่ปรากฏนั้น ถือเป็นการกลั่นแกล้งและปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือไม่ และได้สอบถามความสมัครใจเจ้าตัวในการสั่งย้ายนี้ด้วยหรือไม่5) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร ก่อนหน้านั้น ซึ่งอยู่ในช่วงรอยต่อของการทำคดีก่อนหน้า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา

6) พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ภายหลังจากคดีนี้พัวพันกับเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายและ พล.ต.ต.ปวีณ หัวหน้าชุดทำคดี ได้ถูกกลั่นแกล้งจากผู้มีอำนาจในรัฐบาล จนต้องตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2558 และขอลี้ภัยไปต่างประเทศ ภายหลังขอให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ทบทวนคำสั่งไม่สำเร็จนั้น มีบุคคลที่ถูกอ้างถึงขอให้ พล.ต.ต.ปวีณ ยับยั้งใบลาออกจากราชการและเสนอให้โอนย้ายไปทำงานในสำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ หรือย้ายไปที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเพื่อดูคดีค้ามนุษย์ต่อ แต่ขณะไปถอนใบลาออกนั้น พล.ต.อ.จักรทิพย์ กลับบอก พล.ต.ต.ปวีณ ให้ลาออกไปอยู่เงียบๆ แทน โดยต่อสายให้พูดคุยกับ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ประจําสํานักพระราชวังพิเศษ ในขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้เสนอทางเลือกนี้ เพื่อให้ยืนยันกับ พล.ต.ต.ปวีณ โดยตรง เพื่อสอบสวนว่าเรื่องนี้เป็นจริงหรือไม่ ทำไมมีการเสนอทางเลือกใหม่ที่ต่างไปจากข้อเสนอของบุคคลที่ถูกอ้างถึงและด้วยผลประโยชน์อันใด ซึ่งต่อมา พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ก็ได้กลายเป็นผู้ต้องหาคดีประพฤติชั่วร้ายแรงและบุกรุกพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติ โดยสำนักพระราชวังลงโทษไล่ออกจากตำแหน่งรองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายความมั่นคงและกิจกรรมพิเศษ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 และปัจจุบันพ้นโทษออกมาแล้ว

7) สอบข้อเท็จจริงจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์และขอผลชันสูตรอย่างเป็นทางการ สำหรับข้อครหาที่ว่า พล.ท.มนัส คงแป้น เสียชีวิตในเรือนจำจากเหตุหัวใจวายนั้นเป็นการตัดตอนคดีหรือไม่ รวมถึงพยานบุคคลโดยเฉพาะนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักโทษทางการเมืองในขณะนั้นที่ให้ข้อมูลว่า ขณะต้องขังได้พบและคุยกับพล.ท.มนัส ในเรือนจำ และเขาให้ข้อมูลว่า พล.ท.มนัส ได้รับคำสั่งให้นำกำลังทหารจำนวนหนึ่ง เพื่อจะไปอุ้ม พล.ต.ต.ปวีณ หัวหน้าชุดทำคดี แต่ไม่สำเร็จ โดยไม่ทราบว่าใครอยู่เบื้องหลังในเรื่องนี้

8) ผู้บัญชาการกองทัพภาค 4 ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ของขบวนการค้ามนุษย์ เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์

9) ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เกี่ยวกับนโยบายความมั่นคงและงบลับทางทหาร ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับแคมป์พักชั่วคราวของขบวนการค้ามนุษย์บนเทือกเขาแก้ว ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา อ.รัตภูมิ และหลายพื้นที่ในจังหวัดสงขลาหรือไม่อย่างไรในอดีต เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงบางส่วนใช้ช่องว่างทางกฎหมายหาผลประโยชน์ส่วนตัวจากนโยบายด้านความมั่นคงและงบลับทางการทหาร เพื่อหารายได้จากธุรกิจสีเทาจนสร้างเป็นโครงข่ายที่ใหญ่โต โดยตั้งตัวเป็นนายหน้าเรียกค่าไถ่รับผลประโยชน์ และสร้างค่ายกักขังบนภูเขาขึ้น ทำให้เกิดขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติอย่างเป็นระบบ

10) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ข้อมูลและดำเนินการสอบสวนเอาผิดบุคคลที่ถูกกล่าวหาทุจริตประพฤติมิชอบในขบวนการค้ามนุษย์ โดยสั่งการรื้อคดีและมอบหมายนายตำรวจน้ำดีขึ้นมารับผิดชอบสืบสวนสอบสวนสานต่อคดี เพื่อหาผู้ที่อยู่เบื้องหลังและเกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงลงโทษทางวินัยต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประวิงเวลาหรือไม่ยอมส่งหลักฐานให้หัวหน้าชุดทำคดี เนื่องจากคดีนี้มีบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ในขบวนการ นับตั้งแต่การขนส่งทางเรือมายังการขนส่งทางรถ ซึ่งมีตำรวจควบคุมการขนส่งทางบก มีทหารคุ้มครองเส้นทาง ไปจนถึงค่ายกักกันที่ปรากฏการเสียชีวิตของชาวโรฮิงญาจำนวนมาก และยังมีตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงสมควรรื้อคดีสืบสวนสอบสวนต่อไปและดำเนินคดีต่อเนื่อง เพื่อทำลายขบวนการค้ามนุษย์ให้สิ้นซาก และแก้ปัญหาระบบส่วยอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

2. ขอให้จัดทำผลการสอบ รายงานข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะอย่างเป็นระบบต่อรัฐบาล คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการป้องกันและปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ และมีข้อเสนอการชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ และกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อไม่ให้ปัญหาดังกล่าว กัดเซาะความมั่นคงของประชาชนและบ่อนทำลายภาพลักษณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย โดยขบวนการค้ามนุษย์ซึ่่งนอกจากมีการควบคุมการขนย้ายชาวโรฮิงญาจำนวนมากเพื่อการค้ามนุษย์ เรียกค่าไถ่ และส่งตัวไปประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์กับผู้อพยพอื่นๆ รวมถึงชาวอุยกูร์ด้วยตามที่ปรากฎเป็นข่าว ที่เป็นลักษณะอาชญากรรมข้ามชาติโดยใช้ไทยเป็นทางผ่าน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...