นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง เปิดเผยภายหลังเข้าพบคณะกรรมการพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ว่า ได้มาพูดคุยถึงข้อเสนอและเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย ของการมีกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ซึ่ง กกต. เสนอ และผู้ตรวจการการเลือกตั้งที่ กกต.เป็นผู้เสนอ พร้อมยอมรับว่าที่ผ่าน กกต.จังหวัด มีเสียงครหาเชื่อมโยงกับฝ่ายการเมืองในพื้นที่ แต่ยืนยันว่า ยังมีความเป็นต้องมี จึงเสนอวิธีการสรรหา ต้องไม่ใช่ข้าราชการประจำในพื้นที่ และเป็นบุคคลคนที่มีความหลากหลายใน 5 สายงาน ได้แก่ ผู้ที่มีประสบการณ์ทางด้านการเมืองการเลือกตั้ง ผู้มีประสบการณ์ด้านกฎหมายและการสืบสวนสอบสวน การบริหารงานองค์การ ภาคประชาสังคม และคนมีประสบการณ์ให้การศึกษาด้านการเมืองแก่ประชาชน โดยรูปแบบการทำงานจะลักษณะของบอร์ดกำกับดูแลสำนักงาน กกต. จังหวัดและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีการเลือกตั้งต่างๆ พร้อมกันนี้ ได้เสนอให้มีการรับเบี้ยประชุมรายเดือนแทนการรับเงินเดือนประจำทุกเดือน มองว่าจะทำให้ประหยัดงบประมาณมากกว่า
นายสมชัย ยังเปิดเผยว่า การมีผู้ตรวจการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกลไกที่ กรธ. เสนอนั้น มีปัญหาหลายจุดที่เกิดขึ้น เพราะผู้ที่จะมาเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง อาจจะเป็นภาคเอกชน และข้าราชการที่เกษียณอายุ โดยจะต้องลงพื้นที่ทำงาน 4 - 6 เดือน ทั้งที่ไม่มีความคุ้นเคยในพื้นที่ อาจะทำให้เกิดปัญหาด้านค่าใช้จ่ายได้
ส่วนการทำงานของ กกต. ที่รัฐธรรมนูญใหม่กำหนดให้มีคณะกรรมการ 7 คนนั้น นายสมชัย กล่าวว่า อีก 2 คน ที่ต้องสรรหา จะต้องรอให้กฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศใช้ก่อน จึงจะเริ่มสรรหา หากในบทเฉพาะการ กรธ. ยังยืนคุณสมบัติผู้ที่จะมาเป็น กกต.ตามเดิม ก็จะต้องมีการสรรหาใหม่ 2 คนควบคู่กับการสรรหา กกต.ที่ขาดคุณสมบัติด้วย