ที่ ห้องประชุมกรรมาธิการ CB 407 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ ประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า วการประชุมใน คณะ กมธ. ในระเบียบวาระเรื่องพิจารณาเกี่ยวกับ “มาตรการนโยบายในการดำเนินการปรับลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า" โดยเชิญผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้านครหลวง โดยมีผู้ร้องเรียนจาก บริษัท สุเพิร์บ พาวเวอร์ จำกัด
ด้าน นายเบญจพงษ์ โล่ห์ชิตกุล ผู้บริหาร บริษัท สุเพิร์บ พาวเวอร์ จำกัด เปิดเผยว่า จากวิกฤตการณ์ จากต้นทุนโดยเฉพาะค่าก๊าซธรรมชาติ ที่ต้นทุนเพิ่มตามลำดับ โดยในช่วงเดือน พ.ย. 64 ต้นทุนก๊าซมีราคาอย่างก้าวกระโดดจาก เดือน ต.ค.64 ถึง 24.44% จากราคา 281.61 บาท/MMBTU เป็น 347.61 บาท/MMBTU ทั้งนี้ยังมีแนวโน้มที่ทราบมาจาก ปตท. ว่าต้นทุนค่าก๊าซจะเพิ่มขึ้นใน ปี 2465 นี้ถึง 430 บาท/MMBTU ทำให้ในเบื้องต้น บริษัทมีความจำเป็นต้องหยุดการผลิต เนื่องจากขาดทุนต่อเนื่องมาหลายเดือนแล้ว ทั้งนี้ตนมีข้อสงสัยว่า ทำไมต้นทุนที่มี ภาษีสรรพสามิต ภาครัฐไม่ช่วยลดหย่อนให้บ้าง อีกทั้งต้นทุนที่ภาคเอกชนต้องจ่ายให้กับการไฟฟ้า 2 % และ กกพ. อีก 1 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ต้นทุนนี้ ทางภาคเอกชนต้องแบกรับภาระเอาไว้
นายวรสิทธิ์ กล่าวว่า จากกรณีปัญหานี้ ตนได้หารือถึงความยากลำบากจากผู้ประกอบการ ซึ่งมีต้นทุนหลักที่ต้องแบกรับ รวมถึงอีกทั้งต้นทุนแฝง และค่าโสหุ้ย ประกอบไปด้วยค่าแรง ต้นทุนที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับ ธนาคาร ทำให้บริษัทไม่คุ้มทุนที่จะดำเนินกิจการต่อ หากปล่อยต่อไป บริษัทก็อาจจะยุติกิจการ สำหรับการที่จะฟื้นฟูธุรกิจให้กลับมาดำเนินดังเดิม ก็จะยากเหมือนกับหลายกิจการที่ล้มแล้วก็ยากที่จะกลับมาดำเนินกิจการต่อ ด้วยอุปสรรค ในด้านเงินลงทุน ฐานลูกค้า อีกทั้งหากบริษัทไหนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิสัมปทาน ก็จะต้องมีความยุ่งยากขึ้นไปอีก ทั้งนี้จากมติของคณะกรรมาธิการ ได้เสนอให้ทำหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การช่วยเหลือ เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป