เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 65 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่เครือข่ายสตรีมีข้อเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันสตรีสากล 8 มีนาคม ที่ผ่านมา เกี่ยวกับสิทธิของลูกจ้างประเด็นวันลาคลอดบุตรที่ปัจจุบันให้ลาได้ 98 วัน แต่การจ่ายค่าจ้างครอบคลุมเพียง 90 วัน เนื่องจากข้อกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ลูกจ้างลา แต่ไม่เกิน 45 วัน โดยค่าจ้างอีกครึ่งหนึ่ง (45วัน) ลูกจ้างรับจากสำนักงานประกันสังคม ของค่าจ้างเฉลี่ย 90 วัน จึงเห็นได้ว่าจำนวนวันลา 8 วัน ที่เพิ่มขึ้นนั้น ลูกจ้างยังไม่ได้รับความคุ้มครองในเรื่องค่าจ้าง
นางสาวรัชดา กล่าวว่า นายกฯ ได้รับข้อเรียกร้อง และได้ติดตามการปรับปรุงข้อกฎหมายเพื่อให้นายจ้างและสำนักงานประกันสังคมร่วมกันจ่ายค่าจ้างให้ครอบคลุมวันลาทั้งหมด 98 วัน มาระยะหนึ่งแล้ว ขณะนี้ กระทรวงแรงงาน อยู่ระหว่างดำเนินการให้สำนักงานประกันสังคมเสนอปรับแก้ไขกฎหมาย เพิ่มสิทธิให้กับลูกจ้าง โดยจะปรับเพิ่มประโยชน์ทดแทนให้ผู้ประกันตน จากร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย 90 วัน เป็นร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย 98 วัน ซึ่งจะมีผลให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างในวันลาเพิ่มขึ้นจากสิทธิเดิม อีก 4 วัน ในส่วนของค่าจ้างในวันลาเพื่อคลอดบุตร อีก 4 วัน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะได้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานประเมิลผลสัมฤทธิ์กฎหมาย เพื่อปรับแก้ไข พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพิ่มสิทธิให้กับลูกจ้างต่อไป
"รัฐบาลมุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานสตรีมาโดยตลอด รวมถึงนายกรัฐมนตรียังสนับสนุนให้สตรีได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ได้รับสิทธิประโยชน์จากการจ้างงาน มีความสุข และคุณภาพชีวิตที่ดีในการทำงาน โดยสำนักงานประกันสังคมได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ กองทุนประกันสังคม โดยเพิ่มค่าคลอดบุตรจากเดิม 13,000 บาท เพิ่มเป็น 15,000 บาทค่าสงเคราะห์บุตรจากเดิมเดือนละ 600 บาท เพิ่มเป็นเดือนละ 800 บาท ค่าฝากครรภ์ตามเกณฑ์คุณภาพ จากเดิม 1,000 บาท เพิ่มเป็น 1,500 บาท รวมทั้งการตรวจสุขภาพ ตรวจสุขภาพเต้านม ตรวจมะเร็งปากมดลูกฟรีให้แก่ผู้ประกันตนและการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกรณีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อการคุ้มครองดูแลแรงงานสตรีให้เข้าถึงหลักประกันทางสังคม" นางสาวรัชดา กล่าว