กรมชลประทาน เดินหน้าโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง หวังบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดตรัง คาดจะแล้วเสร็จตามแผนในปี 2565 ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวเมืองตรังได้เป็นอย่างมาก
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้เร่งรัดการก่อสร้าง โครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรังดังกล่าว ให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 นี้ แม้การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ แต่สามารถใช้ประโยชน์จากโครงการฯในการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้แล้วบางส่วน โครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง ประกอบไปด้วยงานสำคัญๆ คือ คลองผันน้ำ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำของแม่น้ำตรังในเขตพื้นที่ อ.เมืองตรัง ด้วยการก่อสร้างคลองผันน้ำความยาว 7.6 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่บริเวณหมู่ที่ 1 บ้านหนองตรุด กม.31+000 ของแม่น้ำตรัง ผ่านหมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 ต.หนองตรุด หมู่ที่ 1 ต.นาโต๊ะหมิง และหมู่ที่ 4 ต.บางรัก สิ้นสุดที่บ้านคลองช้าง หมู่ที่ 4 ต.บางรัก อ.เมือง จ.ตรัง สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อรวมกับศักยภาพการรับน้ำของแม่น้ำตรัง จะสามารถระบายน้ำไม่ให้ท่วมพื้นที่ได้
นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำ (ปตร.) 2 แห่ง คือ ปตร.บริเวณปากคลองผันน้ำ เพื่อใช้ควบคุมและบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก และปตร.บริเวณปลายคลองผันน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งก่อสร้างอาคารประกอบและอื่นๆ บริเวณแนวคลองผันน้ำ ได้แก่ สะพานรถยนต์ จำนวน 6 แห่ง เพื่อเชื่อมต่อการคมนาคมระหว่าง 2 ฝั่งคลอง อาคารรับน้ำจำนวน 24 แห่งตลอดแนวคลองผันน้ำเพื่อรับน้ำจากที่ลุ่มต่ำในพื้นที่ข้างเคียงลงสู่คลองผันน้ำ ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ ตลอดจนก่อสร้างถนนบนคันคลองทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อสาธารณประ โยชน์ พร้อมกับปรับปรุงภูมิทัศน์สถานที่ให้ประชาชนได้พักผ่อนและออกกำลังกายได้อีกด้วย
"เมื่อโครงการฯ เสร็จสมบูรณ์ นอกจากจะช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่ ตำบลหนองตรุด ตำบลนาโต๊ะหมิง และตำบลบางรัก อำเภอเมืองตรัง พื้นที่ประมาณ 10,525 ไร่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว คลองผันน้ำยังสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 3.20 ล้าน ลบ.ม. สำหรับให้ประชาชนใช้ในการอุปโภคบริโภค และการเกษตรในฤดูแล้งได้อีกด้วย ทั้งจะเป็นแหล่งน้ำดิบสนับสนุนการผลิตน้ำประปาประมาณ 1.74 ล้าน ลบ.ม./ปี รวมไปถึงช่วยผลักดันน้ำเค็ม มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ในฤดูฝน 10,000 ไร่ และฤดูแล้งประมาณ 3,000 ไร่"อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว