นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเนื่องในวันช้างไทย ประจำปี 2565 ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีช้างป่าอาศัยอยู่ตามธรรมชาติประมาณ 3,168 - 3,440 ตัว ส่วนใหญ่อาศัยในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ 69 แห่ง ภาพรวมมีป่าที่เป็นแหล่งอาศัยของช้างป่าประมาณ 52,000 ตารางกิโลเมตร ที่จะอยู่ร่วมกันเป็นโขลงตั้งแต่น้อยกว่า 10 ตัว ไปจนถึง 200 – 300 ตัวในแต่ละพื้นที่ โดยการอนุรักษ์ช้างป่าไทยที่ผ่านมาของไทยทำให้ประชากรช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แต่กลับพบพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งที่เป็นถิ่นอาศัยของช้างป่าเริ่มขาดแคลนพืชอาหาร แหล่งน้ำ และสภาพถิ่นอาศัยที่เหมาะสมมีขนาดลดลงจากเดิม เนื่องจากการขยายตัวของชุมชน การขยายพื้นที่เกษตร และการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น การก่อสร้างเส้นทางคมนาคมที่ผ่านป่าสมบูรณ์ การก่อสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จึงเป็นปัจจัยให้เกิดปัญหาช้างป่าออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรของชุมชน โดยเฉพาะที่อาศัยตามแนวขอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จนกลายเป็นปัญหาสำคัญที่เพิ่มความรุนแรงขึ้นทุกปี ทั้งนี้ การแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างช้างป่ากับชุมชนต้องป้องกันไม่ให้ถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างป่าถูกทำลาย ทั้งการป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าและการตัดไม้ ป้องกันปราบปรามไม่ให้มีการล่าช้าง ปรับปรุงป่าเสื่อมโทรมให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยตามหลักวิชาการ และกลุ่มป่าบางแห่งที่เป็นเส้นทางช้างในอดีตที่ถูกตัดขาดไม่ต่อเนื่องจะสร้างแนวเชื่อมต่อพื้นที่ให้เป็นป่าผืนใหญ่เชื่อมต่อหากันได้ เมื่อป่าสมบูรณ์ช้างป่าไม่จำเป็นต้องออกมาทำลายพืชไร่ของประชาชนและความขัดแย้งจะไม่เกิดขึ้น
อย่างอุทยานแห่งชาติกุยบุรี อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้แก้ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่า ด้วยตั้งศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Smart Early Warning System) เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง ซึ่งศูนย์ฯแห่งนี้เป็นร่วมมือระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กับ บริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เพื่อแก้ปัญหาลดความขัดแย้งระหว่างช้างป่าและเกษตรกรในพื้นที่รอบอุทยาน จากปัญหาช้างป่าลงมาหากินทำลายพืชผลทางการเกษตร ด้วยการติดตั้งกล้อง 25 จุดตามแนวชายป่าอุทยาน เมื่อมีช้างป่าลงมาจากอุทยานกล้องจะถ่ายภาพและส่งสัญญาณเตือนผ่านเครือข่ายมือถือส่งกลับมาที่ศูนย์ฯและแจ้งเตือนไปยังแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยาน ซึ่งแบ่งกำลังลาดตระเวนออกเป็น 4 หน่วยตามแต่ละพื้นที่ทันที ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถระบุพิกัดช้างป่าได้อย่างแม่นยำและสามารถผลักดันช้างกลับสู่ป่าก่อนเกิดความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรกรรม
ขณะเดียวกันกรมอุทยานฯยังสร้างเครือข่ายความร่วมมือของประชาชนที่อาศัยบริเวณรอบอุทยาน และจัดอบรมเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์อุทยาน โดยอาสาสมัครสามารถโหลดแอพพลิเคชั่น Smart Early Warning System เพื่อส่งข้อมูลภาพถ่ายช้างป่านอกเหนือจากจุดที่มีการติดตั้งกล้องหลัก 25 จุด เพื่อขอกำลังเข้าผลักดันช้างกลับสู่ป่าได้ทันที พร้อมบันทึกข้อมูลและสะสมสถิติการบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรมของช้างป่า ทำให้สามารถวิเคราะห์ ประมวลผลพฤติกรรม และช่วงเวลาหากินของช้างป่าได้จาก Big Data ที่บันทึกในระบบ เพื่อนำไปศึกษาวิจัยพัฒนาด้านอื่นๆต่อไป ซึ่งเทคโนโลยีและการจัดการที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีจะกลายเป็นโมเดลนำไปต่อยอดใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อีกประมาณ 40 แห่งทั่วประเทศต่อไป