นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับการพิจารณาร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง ระบุว่า หลังจากที่รัฐสภาได้พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 83 86 และ 91 ผ่านไปเรียบร้อยแล้วเมื่อปลายปีที่แล้ว บัดนี้ถึงเวลาต้องแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดใน "พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง" พ.ศ.2560 ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ดังกล่าว ในคราวการประชุมร่วมรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 มีข้อเสนอญัตติและร่างแก้ไขเพิ่มเติม พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง พ.ศ...จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ 1.ของรัฐบาล 2.ของพรรคเพื่อไทย 3.ของนายวิเชียร ชวลิต และ 4. ของพรรคอนาคตใหม่
ที่ประชุมใหญ่รัฐสภาได้มีการอภิปรายกันอย่างเผ็ดร้อน แต่ในที่สุดเสียงข้างมากของที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบต่อหลักการของร่าง พรป.ที่เสนอมาทั้ง 4 ฉบับ พร้อมกับตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯจำนวน 49 ท่าน ให้ไปพิจารณาในรายละเอียด ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป
ประเด็นสำคัญที่ประชาชนควรติดตาม ในร่างแก้ไขเพิ่มเติม พรป.ทั้ง 4 ฉบับ มีประเด็นสำคัญที่จะพิจารณาและประชาชนผู้สนใจควรติดตาม 14 ประเด็น ได้แก่ 1.จัดให้มีเลือกตั้ง 2 ระบบ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อ 2.กำหนดวันและสถานที่ส่งรายชื่อผู้สมัคร แก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดวันและสถานที่ที่พรรคการเมืองจะส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ 3.คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง แก้ไขเพิ่มเติมจำนวนคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง 4.วิธีคำนวณ ส.ส. แก้ไขเพิ่มเติมวิธีการคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและการแบ่งเขตเลือกตั้ง ประเด็นนี้มีข้อถกเถียงกันมากพอสมควรว่า จะใช้วิธีคำนวณแบบไหน มีหลายสูตรหลายระบบวิธีคิด
5.การตรวจสอบสิทธิการสมัครรับเลือกตั้ง แก้ไขเพิ่มเติมการตรวจสอบสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง(ส.ส.เขต) โดยตัดเรื่องการคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อออก 6.จัดทำบัญชีรายชื่อ แก้ไขเพิ่มเติมการจัดทำบัญชีรายชื่อในส่วนที่เกี่ยวกับจำนวนผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ(ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์) 7.การให้หมายเลขผู้สมัคร กำหนดให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้หมายเลขประจำตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มาบังคับใช้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ประเด็นนี้ก็ถกเถียงกันมาก ฝ่ายหนึ่งเสนอให้ใช้เบอร์เดียวกันทั้งแบบเขตและแบบบัญชี อีกฝ่ายว่าทำไม่ได้เพราะไปขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 90 ซึ่งไม่ได้แก้ไขเพิ่มเติมเสียในคราวที่ผ่านมา
8.กำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่าย แก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมือง ประเด็นนี้ก็พูดกันเยอะว่าควรกำหนดหรือไม่ต้องกำหนดเลย กำหนดแค่ไหนจึงพอเหมาะ ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลของตน 9.ข้อห้ามในการหาเสียง แก้ไขเพิ่มเติมข้อห้ามในการหาเสียง การออกเสียงลงคะแนน การนับคะแนนและการประกาศผลการนับคะแนน เพื่อให้ครอบคลุมการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ นี่ก็ถกกันมากว่าจะนับคะแนนแบบไหน ที่เขตเลือกตั้งหรือรวมมานับที่อำเภอ ทั้งหมดนี้ก็ลองกันมาทุกรูปแบบแล้ว
10.กรณีจำนวนบัตรกับคะแนนไม่ตรงกัน แก้ไขเพิ่มเติมการดำเนินการในกรณีที่ผลการนับคะแนนปรากฏว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ตรงกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ออกเสียงลงคะแนน 11.การคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ แก้ไขเพิ่มเติมการคำนวณสัดส่วนเพื่อหาผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ
12.การประกาศผล กำหนดให้มีการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ 13.การประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษาและส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้ประธานรัฐสภาทราบ
14.กรณีเลือกตั้งไม่สุจริต แก้ไขเพิ่มเติมกรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ประเด็นทั้งหมดที่สรุปมาเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในกรอบของเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 83 86 และ 91 ที่แก้ไขไป แต่บางส่วนทำท่าจะแหลมออกไปเกินขอบเขตดังกล่าวอย่างจงใจ
จึงเป็นหน้าที่ที่ภาคประชาชนและพลเมืองผู้ตื่นรู้จะต้องติดตามดูว่า ส.ส.และ ส.ว.แต่ละท่านแต่ละพรรค จะมีท่าทีทรรศนะในเรื่องเหล่านี้กันอย่างไร และ ผลสุดท้าย มติเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาจะออกมาในหน้าตาอย่างไร
ในการจัดงาน “สัมมนาเครือข่ายประชาชนปฏิรูปการเมือง” ณ อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา จากการกล่าวปราศรัยของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา , การรายงานประชาชนของนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา และการปาฐกถาของ นายแพทย์
พร้อมกันนี้ นพ.พลเดช ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ได้นำเสนอโครงการส่งเสริมการเมืองเชิงศีลธรรม สนับสนุนเครือข่ายจังหวัดวิถีใหม่ มุ่งปฏิรูปการเมืองโดยประชาชนจากฐานล่าง ในงาน “สัมมนาเครือข่ายประชาชนปฏิรูปการเมือง” ณ อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ความโดยสรุปว่า
โครงการส่งเสริมการเมืองเชิงศีลธรรม สนับสนุนเครือข่ายจังหวัดวิถีใหม่ มุ่งปฏิรูปการเมืองโดยประชาชนจากฐานล่าง เกิดขึ้นเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้กับประเทศไทย โดยมีวิธีการสำคัญ คือ การยกระดับทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา สู่แนวคิดการบูรณาการงานพัฒนาในระบบเก้าอี้สามขา กล่าวคือ การสร้างสังคมที่คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดความเหลื่อมล้ำ เป็นสังคมแห่งสุขภาพ และมีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดบริสุทธิ์ได้นั้น จำเป็นจะต้องบูรณาการงานพัฒนาชุมชนระดับฐานราก และงานบริหารท้องถิ่นท้องที่ในระดับกลาง จนถึงการสร้างนโยบายและการบริหารประเทศของการเมืองในระดับชาติ
ทั้งนี้เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา นักพัฒนาทั้งหลายมักจะทำงานแบบแยกส่วนเพียงบางด้านเฉพาะตน โดยไม่ยุ่งกับงานส่วนอื่น เช่น การเป็นข้าราชการที่ดี การทำงานขององค์กรภาคเอกชนที่เรียกว่า NGOs การทำงานเสนอนโยบายระดับชาติ หรือแม้แต่การเข้าไปอยู่ในคณะรัฐมนตรี จึงมีพลังที่ไม่เพียงพอ ไม่สามารถขับเคลื่อนการแก้ปัญหาของชาติที่มีความซับซ้อนและกว้างขวางใหญ่โตได้
ดังนั้น จึงเห็นว่า ถึงเวลาที่จำเป็นจะต้องบูรณการทั้งงานพัฒนาชุมชนท้องถี่น งานบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น-ท้องที่ และ การเข้ามีส่วนร่วมกำหนดการเมืองในระดับชาติ คือการเข้าไปเป็นสมาชิกรัฐสภาและร่วมรัฐบาล เพื่อบริหารนโยบายผ่านกลไกคณะรัฐมนตรี ทำให้บรรลุตามวิสัยทัศน์และเป้าประสงค์ที่ต้องการได้อย่างแท้จริง
2.วิสัยทัศน์ ปฏิรูปการเมืองไทยโดยภาคประชาชน เพื่อให้เป็นการเมืองสุจริตและตั้งอยู่บนฐานของความมีศีลธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ นำพาประเทศไทยสู่ความเจริญรุ่งเรือง
3.เป้าหมาย (1) สังคมไทยก้าวข้ามสภาวะความขัดแย้งแตกแยกทางการเมืองอันยืดเยื้อเรื้อรัง ภายใน 5 ปี (2) เปลี่ยนแปลงการเมืองของประเทศ สู่ระบบประชาธิปไตยวิถีใหม่ ภายใน 10 ปี 4. หลักการร่วม (1) ฝ่าวิกฤติความขัดแย้งเรื้อรัง ด้วยแนวทาง 5 สันติสมานฉันท์ ได้แก่ 1)ยึดประโยชน์ชาติเป็นสำคัญ ไม่ดึงสถาบันมาเกลือกกลั้ว 2) พรรคการเมืองประกาศ นำชาติสามัคคี 3) ไม่สร้างข่าวปลอม ไม่ปลุกระดมสร้างความเกลียดชัง 4) ปกป้องนิติรัฐ เป็นขื่อแปบ้านเมือง 5) นิรโทษกรรมตามเงื่อนไข
(2) ส่งเสริมการเมืองเชิงสร้างสรรค์ ด้วยหลักการ 5 ต้อง ได้แก่ 1) ต้องยึดมั่นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2) ต้องทำงานการเมืองแบบจิตอาสา ไม่หวังผลประโยชน์ในทางผิด 3) ต้องเสริมสร้างความรักสามัคคี ภูมิใจวัฒนธรรมประเพณีไทย 4) ต้องเชื่อมั่นหลักนิติรัฐ เคารพกฎหมาย 5) ต้องมีสปิริตความเป็นนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย รู้อดทนรอคอย (3) ส่งเสริมการเมืองเชิงศีลธรรม ด้วยหลักการ 5 ไม่ ได้แก่ 1)ไม่แบ่งขั้วแยกฝ่ายการเมือง จนบ้านเมืองแตกแยก 2) ไม่ใช้ข้อมูลเท็จหรือข่าวปลอม เพื่อประโยชน์ทางการเมือง 3) ไม่ใช้วาทกรรมสร้างความเกลียดชังในสังคม 4) ไม่ใช้ตำแหน่งกระทำทุจริตและประพฤติมิชอบ 5) ไม่กระทำและไม่สนับสนุนการกระทำผิดกฎหมาย
(4) บูรณาการงานพัฒนาชุมชน งานบริหารท้องถิ่น และการเมืองระดับชาติ เข้าด้วยกันแบบสานพลัง
“เราจำเป็นที่จะต้องดำเนินการขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมืองโดยประชาชนอย่างจริงจังตั้งแต่บัดนี้ ให้ส่งผลโดยเร็วที่สุด ภาคประชาชนควรต้องพร้อมเข้าร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ทันทีในการเลือกตั้งสมัยหน้า ” นพ.พลเดช ระบุ