จากกรณีที่ “เพจชมรมแพทย์ชนบท” ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีอาการหรืออาการน้อยแบบผู้ป่วยนอก หรือ “เจอ แจก จบ” โดยระบุว่าประกันสังคมกำหนดให้ผู้ที่ติดเชื้อ ที่อาการน้อย (สีเขียว) ให้รับบริการตามสิทธิ์กับโรงพยาบาลคู่สัญญา (main contractor) ส่วนโรงพยาบาลชุมชนไม่ใช่โรงพยาบาลคู่สัญญา จะมารักษาไม่ได้มิเช่นนั้นต้องตกลงกันเป็นกรณีๆไป ซึ่งสร้างความปวดหัวให้กับโรงพยาบาลชุมชนมาก และให้ความเห็นว่าประกันสังคมควรให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพเป็น clearing house นั้น
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ชี้เเจงว่า สำนักงานประกันสังคม โดยคณะกรรมการการแพทย์ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การให้บริการรักษาและการจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์ กรณีผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคโควิด19 ที่ต้องเข้ารับการรักษาประเภทผู้ป่วยนอก ตามนโยบาย “เจอ แจก จบ” ให้ได้รับการดูแลรักษาได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ โดยสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลที่ให้การดูแลรักษาผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคโควิด 19 ให้ได้รับการรักษาตามแนวทางที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกระทรวงสาธารณสุขกำหนด และเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการการแพทย์ได้มีการทบทวนหลักเกณฑ์กำหนดสถานพยาบาลที่ให้บริการเพิ่มเติม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาโดยไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาล เเละโรงพยาบาลในระบบประกันสังคมเท่านั้น โดยได้กำหนดแนวทางการดูแลผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคโควิด 19 ได้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่มีศักยภาพในการดูแลผู้ประกันตนได้อย่างทันท่วงที ดังนี้
1. กรณีผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคโควิด 19 กลุ่มอาการสีเขียว ที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง ต้องเข้ารับการรักษาประเภทผู้ป่วยนอก โดยให้ผู้ประกันตนที่ป่วยติดเชื้อสามารถเข้ารับบริการในสถานพยาบาลประกันสังคมและเครือข่ายตามประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง กำหนดเขตท้องที่และรายชื่อสถานพยาบาล ซึ่งเป็นรายชื่อสถานพยาบาลประกันสังคม ทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน ที่สำนักงานประกันสังคมได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา รวมถึงสถานพยาบาลของรัฐที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมได้ทุกแห่ง อีกทั้งยังสามารถเข้าสถานพยาบาลอื่นที่ทำบันทึกข้อตกลงกับสถานพยาบาลหลักในระบบประกันสังคมเพื่อเข้าร่วมให้บริการตามแนวทาง เจอ แจก จบ ได้อีกด้วย
2. สำนักงานประกันสังคม พร้อมจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาล เป็นค่าบริการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยโรคโควิด19 ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด แบบบริการผู้ป่วยนอก จ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 1,000 บาทต่อราย โดยครอบคลุมรายการ ดังนี้
2.1 ค่าบริการให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวในการแยกกักตัวที่บ้าน
2.2 การให้ยาที่เป็นการรักษาโรคโควิด 19 ได้แก่ ยาฟ้าทะลายโจร หรือยา Favipiravir (เบิกจากกระทรวงสาธารณสุข) ตามแนวทางกรมการแพทย์ และหรือยารักษาตามอาการรวมค่าจัดส่ง เป็นต้น
2.3 การประสานติดตามอาการเมื่อให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมง
2.4 การจัดระบบส่งต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องส่งต่อ
สำหรับกรณีผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรควิด19 กลุ่มอาการสีเขียวที่เข้ารับการรักษาเเบบ HI. CI. รพ.สนาม หรือ Hotel Isolation สำนักงานประกันสังคมได้กำหนดให้สถานพยาบาลที่มีศักยภาพในการดูแลผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคโควิด 19 โดยสถานพยาบาลที่ให้บริการและเคยบันทึกผ่านระบบ สปสช. clearing house ยังคงบันทึกเช่นเดิม รวมทั้งกรณีการตรวจ ATK ชึ่งค่าตรวจคัดกรองโควิด สามารถเบิกได้ทุกสิทธิ สำหรับกรณีผู้ป่วยสีเหลืองและแดงให้เป็นไปตามแนวทาง UCEP Plus ของกระทรวงสาธารณสุข โดยข้อมูล ผ่านระบบ สปสช. เป็น clearing house เช่นกันทุกสิทธิ
นายบุญสงค์ กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมมีช่องทางการติดต่อประสานงานให้บริการช่วยเหลือผู้ประกันตน เข้ารักษาในสถานพยาบาล/Hospitel กรณีที่ไม่สามารถติดต่อสถานพยาบาลตามสิทธิฯ ได้ หรือได้รับการปฏิเสธการรักษาผู้ประกันตนสามารถติดต่อประสานหน่วยงานของสำนักงานประกันสังคม ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทุกแห่ง หรือที่สายด่วน 1506 กด 6 และ กด 7 ให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ