นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงเรื่องอายุของสภาว่า ขณะนี้ไม่ใช่เข้าสู่ปีที่ 3 แต่กำลังจะเดินเข้าปีที่ 4 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของวาระสภาผู้แทนราษฎรที่เลือกตั้งมาเมื่อ 24 มีนาคม 2562 ดังนั้นแน่นอนว่ามีหลายสถานการณ์ที่เป็นที่สนใจ แต่อย่างน้อยในปีที่ 4 ตนคิดว่าปัญหายังไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก ซึ่ง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลและทุกพรรคการเมือง ผู้แทนราษฎรต้องเผชิญก็คือปัญหาโควิด ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาการเมือง หนีไม่พ้น 3 ข้อนี้ เพราะทุกปัญหายังไม่สะเด็ดน้ำ พร้อมกับเชื่อว่าเศรษฐกิจก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ และจะเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า
ส่วนปัญหาการเมืองนั้น รัฐบาลในวิถีประชาธิปไตยไม่ว่าจะมาด้วยระบบไหน ปัญหาการเมืองก็มาคู่กันกับการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งตนเชื่อว่ามี 2 เรื่องที่จะต้องเกิดขึ้น คือ 1. การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งรัฐบาลก็เตรียม และเราเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ก็มีหน้าที่ต้องเตรียม และมั่นใจว่ารัฐมนตรีทุกคนก็เตรียมพร้อม หากต้องทำหน้าที่ชี้แจงในสภา 2. คำถามเรื่อง วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าต้องมีคนยื่นตีความ เพราะมีคนประกาศจะยื่นหลายคน นอกจากนั้นก็ยังมีคำถามยอดฮิตคือ จะยุบสภาหรือไม่ ซึ่งทั้งเราและนายกรัฐมนตรีก็จะเจอคำถามนี้ต่อไป “สัญญาณจนถึงวันนี้ จากประสบการณ์การเมืองของผม เราทำงานร่วมกับรัฐบาล ร่วมกับท่านนายก เชิญไปทานข้าว 2 รอบแล้ว ครั้งที่ 1 ผมก็ไป ครั้งที่ 2 เชิญพรรคเล็กด้วย เราด้วย ผมก็มอบหมายท่านเลขาธิการไป จำเป็นต้องมอบหมายเพราะผมอยู่ที่แม่ฮ่องสอน แต่สัญญาณที่ส่งคืออะไรผมไม่ทราบ แต่เรารับสัญญาณได้ว่านายกรัฐมนตรีก็ยังตั้งใจที่จะทำหน้าที่ต่อไป ผมคิดว่าจะเป็นอย่างนั้นแต่ผลจะเป็นอย่างไร มันไม่มีใครบอกได้ล่วงหน้า เวลาจะมียุบสภาในประเทศไทย มันไม่เหมือนอังกฤษ พอเสียงดีมากๆ ยุบเพื่อเลือกตั้งเที่ยวหน้าจะได้เสียงเยอะ อังกฤษเขาทำกันอย่างนั้น แต่ว่าของเรายุบก็เมื่อมันเกิดอุบัติเหตุ หรือไปต่อไม่ได้ ซึ่งเราไม่รู้ว่าอุบัติเหตุทางการเมืองจะเกิดหรือไม่ หรือจะเกิดเมื่อไหร่อย่างไร ซึ่งเราก็ต้องติดตามและเตรียมความพร้อม เพราะแม้จะมียุบสภา จะไม่ยุบ ยังไงเราก็ต้องเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง เพราะมีนาหน้า ก็ครบปีที่ 4 ครบเทอม ต้องจัดการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้แล้ว” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว พร้อมกับระบุว่า กรรมการบริหารพรรค เลขาธิการพรรค และพวกเราทุกคนเราเตรียมมาก่อนหน้านี้แล้วหลายเรื่อง และเตรียมอย่างมีความคืบหน้าไม่ว่าจะเป็น เรื่องตัวบุคคล เรื่องนโยบาย เรื่องผู้สนับสนุน เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแม้แต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็เตรียมจนเหลือเพียงอย่างเดียวคือเดินไปสมัครแล้วรณรงค์หาเสียง พร้อมกับเน้นย้ำข้อจำกัดเรื่องการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในครั้งนี้ว่า กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นฉบับนี้พิสดารมาก หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค กรรมการบริหารและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ลงไปช่วยหาเสียงไม่ได้ แต่ใครอยู่ในฐานะที่ไปช่วยหาเสียงได้ถูกต้องตามกฎหมายขอให้ลงไปช่วยกันทุ่มเท เพราะการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ของพรรค คือความรับผิดชอบที่ประชาธิปัตย์มีต่อชาวกรุงเทพฯ “เพราะกรุงเทพมหานครกับเราผูกพันกันมาอย่างยาวนาน การไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนั่นคือการที่เราไปตัดทางเลือกที่ดีที่สุดทางหนึ่งของคนกรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นการส่งผู้สมัครคือการแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งจะได้รับเลือกตั้งหรือไม่อย่างไรอยู่ที่มือประชาชน แต่เราถือว่าได้ทำหน้าที่ของเราในฐานะพรรคการเมืองที่ผูกพันกับคนกรุงเทพฯ และรับผิดชอบต่อคนกรุงเทพฯ” นอกจากนี้หัวหน้าพรรคได้กล่าวถึงเรื่องการเตรียมทีมเศรษฐกิจของพรรค ที่ได้คนจำนวนหนึ่งซึ่งมีศักยภาพและต้องการช่วยเรา แต่เขายังไม่อยู่ในฐานะที่จะเปิดตัวหรือประกาศชื่อ เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติภารกิจปัจจุบันของเขาซึ่งจะมาพัวพันการเมืองโดยตรงไม่ได้ แต่หลายคนได้อุทิศความคิด ให้คำปรึกษา คำแนะนำ และมาร่วมประชุมกับเราอย่างไม่เป็นทางการหลายครั้ง จึงขอให้มั่นใจว่าทั้งทีมเศรษฐกิจ และทีมเศรษฐกิจทันสมัยได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง สำหรับเรื่องนโยบาย ได้ให้ท่าน ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรมเป็นประธานนโยบายของภาค ช่วงหลังท่านไตรรงค์ สุวรรณคีรี ก็ได้กรุณารับเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจหัวหน้าพรรค ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากในทุกมิติในทุกด้าน รวมไปถึงกลุ่มยุวประชาธิปัตย์ เด็กรุ่นใหม่เข้ามาร่วมกับเรามากขึ้น และกำลังปรับรูปแบบยุวประชาธิปัตย์ไปเป็น Young Blue ซึ่งจะมีการเปิดตัว และทำงานให้เห็นเป็นรูปธรรมภายใต้ฐานเดิมที่ไม่เปลี่ยนคือยุวประชาธิปัตย์ นอกจากนี้ หัวหน้าพรรคยังได้กล่าวถึงในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ได้ทำงานที่มีความก้าวหน้าไปมาก และพร้อมกับมั่นใจว่าประชาธิปัตย์ไม่ได้เดินลงแต่กำลังเดินขึ้น ซึ่งต้องรักษาจุดนี้ไว้และเพิ่มเติมให้สูงขึ้นไปได้อีกภายใต้ความร่วมมือของเรา โดยปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย 1. ผลงาน ซึ่งได้นับหนึ่งตั้งแต่ต้นว่า ยุคของพวกเราสมัยนี้ เราต้องเน้นการทำงาน เน้นการทำหน้าที่ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ให้ประชาชนเห็นให้เป็นรูปธรรม และเมื่อเราร่วมรัฐบาลก็ทำสำเร็จชัดเจน อย่างน้อยเงื่อนไข 3 ข้อ ประกันรายได้ แก้รัฐธรรมนูญ การบริหารราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เราทำครบ แม้มันจะไม่ได้ร้อย แต่มันก็ได้หลายเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะประกันรายได้ถือว่าเกินร้อย แก้รัฐธรรมนูญแม้ยังไม่ได้ตามเป้าทั้งหมดแต่อย่างน้อยร่างเดียวที่ทำสำเร็จ และกำลังดำเนินการอยู่ก็เป็นร่างประชาธิปัตย์ของเรา และเราจะต้องเดินหน้าต่อไปเพื่อทำประเทศให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น 2. ความเป็นเอกภาพ ก็มีความสำคัญและเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะนำเราไปสู่ความสำเร็จในอนาคต ซึ่งมาถึงวันนี้ความเป็นเอกภาพในพรรคประชาธิปัตย์ชัดเจน มีความกลมเกลียวร่วมมือร่วมใจกันชัดเจน และเราไปทางเดียวกัน อะไรที่เราเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งแน่นอนไม่มีองค์กรประชาธิปไตยที่ไหนเห็นตรงกัน 100% เราไม่ใช่องค์กรเผด็จการ แต่สุดท้ายเรามีข้อยุติ ทุกคนก็เคารพมติพรรค เพราะฉะนั้นนี่คือจุดแข็งอีกจุดหนึ่งที่จะนำเราไปสู่ความสำเร็จ 3. อุดมการณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเรายึดมั่น ไม่ทิ้ง และจะยึดมั่นต่อไป เพราะอุดมการณ์คือฐานของความเป็นเรา “ถ้าเราไม่มีอุดมการณ์ เขวไปตามพรรคการเมืองบางพรรค หลายพรรค ด้วยวิธีการที่ไร้อุดมการณ์ เราก็จะเหมือนต้นไม้ที่ไร้ราก สุดท้ายมรสุมการเมืองมา 2 ยก ก็จอด ต้นไม้นี้มันก็ล้ม แต่ประชาธิปัตย์ไม่ล้ม อยู่ยั้งยืนยงมาวันนี้ได้เพราะรากลึก และพวกเราทุกคนช่วยกันรดน้ำพรวนดิน และยึดมั่นต่อมา เราถึงเดินมาจะครบ 76 และจะขึ้นปี 77 และจะอยู่ต่อไปชั่วฟ้าดินสลาย” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว 4. ความเป็นสถาบันทางการเมืองที่ยั่งยืน ไม่ใช่เก่าแก่ พวกเราจะต้องช่วยกันทำต่อไปเพื่อให้ประชาธิปัตย์เดินหน้าไปสู่ความสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นในยุคพวกเรา เพราะจุดนี้คือจุดที่ประชาชนเขาตอบรับเรา และเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งซ่อมที่ชุมพร และสงขลา เขาเลือกเราเพราะเขามั่นใจในความเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาธิปัตย์