ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
'พล.ต.อ.อดุลย์’ปธ.กมธ.แรงงาน เปิดเวทีสัมมนาระดมความเห็นทุกภาคส่วน เร่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน
23 มี.ค. 2565

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเรื่อง “การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตภาคเกษตรกรรม” โดยมี พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รองประธาน คณะกรรมาธิการ คนที่สี่ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดหางานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวรายงาน ณ ห้องบอลรูม 1 ชั้น 3 โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร 

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ประเทศไทยสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยมุ่งเน้นการส่งสินค้าออกไปต่างประเทศ การท่องเที่ยว และการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก รวมทั้งภาคเกษตรกรรมก็เป็นภาคที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเช่นเดียวกัน โดยมีประชากรในประเทศไทยที่ประกอบอาชีพภาคเกษตรกรรมกว่า 25 ล้านคนเศษ หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งรองรับแรงงานที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ทั้งนี้ ภาคเกษตรกรรมยังสามารถสร้างรายได้ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศประมาณร้อยละ 9 ของ GDP อย่างไรก็ตามภาคเกษตรกรรมก็ยังขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานวัยหนุ่มสาวส่วนใหญ่หลั่งไหลเข้าสู่เมืองใหญ่เพื่อทำงานภาคอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งได้รับผลตอบแทนจากการทำงานสูงประกอบกับภาคเกษตรกรรมมักจะขาดแคลนแรงงานในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวเป็นประจำทุกปี จึงจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมา ลาว และกัมพูชา เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ไม่นิยมทำงานในลักษณะ 3D คือสกปรก เสี่ยงภัย และอันตราย ทำให้ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ประมาณกว่า 3 ล้านคน ที่ได้มาทำงานในประเทศไทย ซึ่งหากคิดเป็นสัดส่วนต่อประชากรของประเทศประมาณ 67 ล้านคนแล้ว จะมีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 5 ของประชากรทั้งประเทศ และจำนวนแรงงานต่างด้าวก็จะมีจำนวนสูงขึ้น โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่เกินกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนแรงงานต่างด้าวทั้งหมดที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย 
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่อว่า การนำแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ เข้ามาในประเทศไทยก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในการช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในทุกภาคส่วน แต่ต้องแลกมากับผลกระทบต่อความมั่นคง สังคม เศรษฐกิจ และการเมืองทั้งในและต่างประเทศ ในด้านบวก คือ แรงงานต่างด้าวช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่คนไทยไม่นิยมทำ และช่วยสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วนผลกระทบด้านลบ คือ ปัญหาด้านสาธารณสุข ปัญหาอาชญากรรม และยาเสพติด ปัญหาการศึกษา และเด็กที่เกิดในประเทศไทย ปัญหาที่อยู่อาศัยไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย 

"การสัมมนาในครั้งนี้ จึงจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้นำเสนอข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็นที่กว้างขวาง หลากหลายและเกิดประโยชน์สูงสุด ในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ รวมทั้งนำข้อเสนอที่ได้จากทุกภาคส่วนในการช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการ รวมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าวจะได้นำไปเสนอยังรัฐบาล เพื่อให้การดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้" พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวในท้ายสุด

 

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...