นายณภัทร เสนอว่า ให้ กสทช. ยกเลิกประกาศ เรื่องมาตรการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมปี 2561 ที่จำกัดอำนาจการยับยั้งการพิจารณาควบรวมกิจการที่เคยมี โดยแนะนำให้ กสทช.ปัดฝุ่นนำเอาประกาศว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการควบรวมกิจการปี 2553 กลับมาใช้ เพื่อให้การกำกับดูแลกรณีควบรวมกิจการโทรคมนาคมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถที่จะพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติได้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นสูงสุดกับผู้ใช้บริการและประชาชน รวมถึงศักยภาพทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย
นายณภัทร ระบุว่า การดำเนินการของ กสทช. ต่อกรณีทรู-ดีแทค เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยและไม่ชัดเจน คำถามสำคัญก็คือ 1.การควบรวมครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 2.ก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคม ประชาชน และการแข่งขันของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยหรือไม่
ดังนั้นในฐานะซูเปอร์บอร์ด กสทช. นายณภัทร เห็นว่า การควบรวมดังกล่าวมีนัยยะสำคัญที่ขัดต่อกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2553 และ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม ปี 2544 รวมถึงประกาศฉบับอื่นๆ ที่สำคัญตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ มาตรา 60 ระบุชัดเจนว่า "รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน"
"การนำคลื่นความถี่มาประกอบกิจกาจต้องยึดหลักการที่ว่า ต้องทำเพื่อประชาชน สาธารณะ และประเทศชาติ" นายณภัทร กล่าว
พร้อมกล่าวยืนยันว่า หากดำเนินการสิ่งใดแล้วขัดกับหลักการและกฎหมาย กสทช.ชุดปัจจุบันเข้าข่ายมีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะกระทำผิดกฎหมายหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
ทั้งนี้ยังแนะนำว่า กสทช.ควรนำข้อเท็จจริงมาเปิดเผยและสื่อสารต่อสาธารณะ รวมถึงเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการถกเถียงและหาข้อสรุป
"ท่านต้องรับฟังความเห็นสาธารณะ โดยเฉพาะภาคประชาชน ท่านจำเป็นต้องทำ" 1 ใน 5 ซูเปอร์บอร์ด กสทช. กล่าวให้ความเห็นส่วนตัวว่า 'กรณีการควบรวมทรู-ดีแทค' ควรเป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ชุดใหม่ ในการตัดสินใจ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการโปรดเกล้าฯ
เมื่อถูกถามว่าซูเปอร์บอร์ดมีอำนาจหน้าที่มากน้อยแค่ไหนในการควบคุม กสทช. และดีลยักษ์ครั้งนี้ นายณภัทร ระบุว่า ในฐานะผู้ควบคุมและตรวจสอบ มีหน้าที่ตั้งประเด็น ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเพื่อรายงานให้ กสทช. รับทราบ ก่อนส่งต่อให้กับรัฐสภา อย่างไรก็ตามยอมรับว่า "ผลในทางปฏิบัตินั้น" มีน้อยมาก เพราะอำนาจหน้าที่เต็มขึ้นอยู่กับ กสทช.
"ผมเตือนเเล้วว่าคุณกำลังจะฝ่าไฟแดงนะ แต่เราทำได้แค่เตือน ขณะที่องค์กรอิสระไม่ได้ทำงานอย่างอิสระเท่านั้น แต่ยังต้องมีความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ต่อประชาชนด้วย" นายณภัทร กล่าวย้ำ
พร้อมกล่าวว่า ขณะนี้มีการวางแผนอันแยบยลของใครบางคน ถ้าหากสังคมตระหนักรู้เท่าทัน เชื่อว่าจะเป็นแรงกดดันให้ กสทช.ทำงานอย่างเข้มแข็งมากขึ้น "ถ้าผู้อำนาจคิดได้ ต้องจัดการอย่างเหมาะสม ไม่เอื้อเอกชนที่คิดจะทำผิดกฎหมาย"